ส่งออก พค.กระฉูด 41.59%
อินเดียลิ่ว 243.83% – อาเซียน(5)พลิกลบเป็นบวก 51.05%
การส่งออกไทยในเดือนพ.ค. 64 ขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 11 ปีที่ 41.59% YoY ขณะที่ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ ยุทธปัจจัย การส่งออกไทยเดือนพ.ค. ขยายตัวที่ 45.87% YoY ส่งผลให้การส่งออกไทยใน 5 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวที่ 10.78% YoY และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ ยุทธปัจจัย การส่งออก 5 เดือนแรกขยายตัวที่ 17.13% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยสินค้าหลักที่ผลักดันการส่งออก ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เป็นต้น
ขณะที่ หากพิจารณารายตลาดส่งออก การส่งออกไทยขยายตัวได้ดีในเกือบทุกตลาด โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรปยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง หลังจากการเร่งฉีดวัคซีนภายในประเทศส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติมากขึ้น นอกจากนี้ การส่งออกไปอินเดียยังคงขยายตัวในอัตราที่สูงที่ 243.83% YoY โดยการส่งออกน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากอินเดียมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากไทยเพื่อทดแทนการนำเข้าจากอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ราคาน้ำมันปาล์มพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ขณะที่การส่งออกไปยังสิงคโปร์และอินโดนีเซียพลิกกลับมาขยายตัวได้ในเดือนพ.ค. 2564 ส่งผลให้การส่งออกไปยังอาเซียน (5) พลิกกลับมาขยายตัวที่ 51.05% YoY หลังจากหดตัวที่ 4.42% YoY ในเดือนก่อนหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ การส่งออกไทยปี 2564 ขยายตัวที่ 9.0% YoY ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งประมาณการที่ 9.0% ได้สะท้อนการคาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยมองว่าการส่งออกสินค้าประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยางพารา และผักผลไม้ น่าจะยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัว
นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป น่าจะยังคงเติบโตได้ดีจากปัจจัยด้านราคาที่มีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่การส่งออกทองคำอาจถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยด้านราคาประกอบกับฐานที่สูง ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ อัตราขยายตัวของการส่งออกไทยน่าจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำและปัจจัยการชดเชยอุปสงค์ที่ค้างจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand) มีแนวโน้มคลี่คลายลง
อย่างไรก็ดี ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว อาจใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าจะคลี่คลายลง จากปัญหาคอขวดในระบบโลจิสติกส์โลกและปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้มีตู้คอนเทนเนอร์ติดค้างอยู่เป็นจำนวนมาก โดยประมาณการส่งออกนี้ได้มีการคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงเชิงลบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ทั้งนี้ การส่งออกจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้
แต่ถึงอย่างไร ก็ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจปัจจัยกดดันการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า โดยในขณะนี้หลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ เยอรมนี รัสเซีย ต่างเผชิญจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าสูงขึ้น ซึ่งโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ามีการแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญการแพร่ระบาดอีกระลอก ดังเช่นในกรณีของสหราชอาณาจักรที่ขณะนี้สายพันธุ์เดลต้าได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่มีการแพร่ระบาดมากสุดไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าพลัส ซึ่งคาดว่าเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในอินเดีย และการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์แกมมา ซึ่งวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดสายพันธุ์แกมมาเท่าที่ควร ทั้งนี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกแย่ลงอาจเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า
Social Links