หนี้ครัวเรือนพุ่ง 5.2% ไม่น่ากลัว แต่น่าเกรง!

หนี้ครัวเรือนพุ่ง 5.2% ไม่น่ากลัว แต่น่าเกรง!

 

หนี้ครัวเรือนพุ่ง 5.2% ไม่น่ากลัว แต่น่าเกรง!

                จากรายงานตัวเลขเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 1/2561 ของธปท. สะท้อนว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 77.6% จากระดับ 78.0% ในไตรมาส 4/2560 (ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่ปรับฤดูกาล ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 77.7%) อย่างไรก็ดี ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/2561 ขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 12.17 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.2% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากเพิ่ม 4.6% YoY ในไตรมาส 4/2560 ที่ผ่านมา โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรวบรวมประเด็นที่น่าสนใจจากข้อมูลหนี้ครัวเรือนล่าสุด และมีข้อสังเกตดังนี้:-

                การเพิ่มขึ้นของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 1/2561 ดังกล่าวข้างต้น สอดคล้องกับการเติบโตในระดับสูงของสินเชื่อรายย่อยในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทน เช่น ที่อยู่อาศัย และรถยนต์

                ทั้งนี้ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลัก ตามอานิสงส์ของยอดขายรถยนต์ใหม่ (และผลจากแรงฉุดจากการชำระคืนสินเชื่อเริ่มลดลง) ขณะที่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในส่วนของสินเชื่อที่ปล่อยผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สอดคล้องไปกับข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่เร่งขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น ราวครึ่งหนึ่งเป็นภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเพื่อสิทธิความเป็นเจ้าของในทรัพย์สิน เช่น ซื้อบ้าน-ซื้อรถ และขยายธุรกิจ ขณะที่ การก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่มีหลักประกันนั้น ยังมีสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับภาพรวมของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

                สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2561 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย อาจชะลอลงมาอยู่ในกรอบประมาณ 76.5-77.5% ต่อจีดีพี เทียบกับสัดส่วนประมาณ 78.0 % ต่อจีดีพีในปี 2560 โดยเป็นผลมาจากระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (Nominal GDP) เป็นปีที่สามติดต่อกัน

                อย่างไรก็ดี ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของไทย ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2561 จะยังเติบโตได้ใกล้เคียง หรือสูงขึ้นกว่าในปี 2560 (ที่เติบโต 4.3%) เล็กน้อย ซึ่งทำให้ยังคงต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในระยะข้างหน้าที่ต้นทุนดอกเบี้ยอาจมีแนวโน้มทยอยเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวมและระดับรายได้ของครัวเรือนหลายๆ กลุ่มจะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแล้วก็ตาม ซึ่งสัญญาณในส่วนนี้ สอดคล้องกับผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนล่าสุดในปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่า ระดับหนี้สินต่อครัวเรือนโดยเฉลี่ย เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.78 แสนบาท (เทียบกับประมาณ 1.56 แสนบาทในปี 2558) 

               

                โดยสรุป หากมองในมิติของสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อให้กับภาคครัวเรือน จะพบว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนไทย จะยังคงมาจากการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ท่ามกลางจังหวะที่สถาบันการเงินกลุ่มอื่นๆ อาทิ สหกรณ์อยู่ระหว่างการปรับตัวให้สอดคล้องกับเกณฑ์การดูแลของทางการที่จะทยอยประกาศใช้ในระยะข้างหน้า

                นอกจากนี้ สำหรับในส่วนของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน หรือ Clean Loan นั้น ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้เริ่มนำฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ประโยชน์ในการประกอบการวิเคราะห์เครดิต/ความเสี่ยง และพฤติกรรมการใช้สินเชื่อของลูกค้ามากขึ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับนโยบายด้านเครดิตที่ระมัดระวัง ก็น่าจะทำให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า หนี้ครัวเรือนที่อาจจะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าในส่วนที่มาจากสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันนั้น ส่วนหนึ่งเป็นไปในลักษณะที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

You may also like

แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ไทย

ยอดขายขอ