หนุนท่องเที่ยวกลุ่มภาคกลางตอนบน วิถีชุมชน ศิลปวัฒนธรรมลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก

หนุนท่องเที่ยวกลุ่มภาคกลางตอนบน วิถีชุมชน ศิลปวัฒนธรรมลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก

หนุนท่องเที่ยวกลุ่มภาคกลางตอนบน

วิถีชุมชน ศิลปวัฒนธรรมลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก

                โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 ขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยววิถีชุมชนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก ที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ในจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และลพบุรี จะเดินทางแบบไป-กลับ หรือนอนค้างสักคืนสองคืน ก็สามารถสัมผัสความเป็นอยู่แบบวิถีชุมชนและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นรับลมหนาว พร้อมร่วมกิจกรรมและช็อปสินค้า OTOP

           ขอประเดิมกันที่ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2519 เพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ราษฎร ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดท่าสุทธาวาส ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีทัศนียภาพโดยรอบร่มรื่นและสวยงาม เป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น ชื่อว่า “คุ้มสุวรรณภูมิ” ชั้นบนแสดงนิทรรศการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ชั้นล่างเป็นที่ทำการของกลุ่มปั้นตุ๊กตาชาววัง มีการจัดแสดงผลงานและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาชาววัง พร้อมด้วยผลิตภัณฑ์ OTOP ของจังหวัดอ่างทอง ในราคาที่ย่อมเยา เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนแห่งนี้ได้อย่างยั่งยืน และเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ที่นักท่องเที่ยวสามารถชมการสาธิตการปั้นตุ๊กตาชาววัง เรียนรู้การปั้นตุ๊กตาด้วยดินเหนียวที่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและวัฒนธรรมประเพณีไทยต่าง ๆ เช่น การละเล่นของเด็กไทย วงมโหรีปี่พาทย์ สุภาษิตคำพังเพยไทย หรือรูปผลไม้ไทยหลากหลายชนิด ซึ่งล้วนมีความสวยงามน่ารัก และรูปแบบต่างๆ มากมาย นอกจากศูนย์ตุ๊กตาชาววังแห่งนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถชมการปั้นตุ๊กตาชาววัง ได้ที่บ้านเรือนของประชาชนในละแวกนั้นได้อย่างเป็นกันเอง โดยแต่ละบ้านจะมีรูปแบบการปั้นตุ๊กตาที่แตกต่างกันไป

                เรียนรู้การปั้นตุ๊กตาชาววังกันแล้ว  เดินทางต่อมาอีกไม่ไกลมาที่หมู่บ้านทำกลอง ต.เอกราช  อ.ป่าโมก จ.อ่างทองเช่นกัน   นับเป็นหมู่บ้านผลิตกลองที่มีชื่อเสียงและดีที่สุดในประเทศไทย ชาวบ้านริเริ่มผลิตกลองตั้งแต่ พ.ศ.2470 เพื่อเป็นอาชีพเสริมหลังฤดูเก็บเกี่ยว โดยใช้ไม้ฉำฉามาทำกลองเพราะเป็นไม้เนื้ออ่อนที่สามารถขุดเนื้อไม้ได้ง่าย และอีกหนึ่งวัตถุดิบสำคัญ คือ หนังวัว ที่ต้องเตรียมไว้สำหรับขึงทำหน้ากลอง

                นักท่องเที่ยวสามารถชมกรรมวิธีการทำกลองซึ่งหาชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน  ตั้งแต่การกลึงท่อนไม้ ไปจนถึงขั้นตอนการขึ้นกลอง การฝังหมุด จะได้เห็นถึงฝีมือการทำที่มีคุณภาพ ประณีต สวยงาม และยังสามารถซื้อกลับบ้านได้อีกด้วย

 

                ต่อกันด้วยชุมชนลาวแง้ว บ้านทองเอน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ความพิเศษของชุมชนนี้คือชาวบ้านทองเอนนั้น มีบรรพบุรุษเป็นชาวลาว จากหัวเมืองแถบหลวงพระบาง ซึ่งอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณบ้านทองเอน เนื่องมาจากสงครามศึกเจ้าอนุวงศ์ ตั้งแต่ พ.ศ.2371-2373 ด้วยเหตุนี้  นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างชาวไทยและชาวลาวเมื่อมาเที่ยวชมบ้านทองเอน ตลอดจนวัฒนธรรมของชาวลาวแง้ว ไม่ว่าจะเป็นการพูดภาษาท้องถิ่น การดำเนินชีวิต อาหารพื้นเมือง และประเพณีต่างๆ ที่พิเศษไม่เหมือนที่ใด

                นอกจากนี้ ยังมีบริการรถรางสำหรับเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ อาทิ ต้นจำปาร้อยปี ไหว้หลวงพ่อดีศักดิ์สิทธิ์ ที่วัดกลาง ชมเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ที่วัดไผ่ดำ ชมกอไผ่ดำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน เยี่ยมชมกลุ่มแม่บ้านทำปลาส้ม กลุ่มจักสานงอบลาวแง้ว ลงเรือเก็บดอกบัวไหว้พระ สานพัดจีน พัดใบตำลึง ชมบ้านเฮือนไทย ของใช้ในอดีต ชมบ่อปลาขนาดใหญ่ที่สุดของบ้านเชียงราก เยี่ยมชมโรงทำน้ำอ้อยงบร้อยปี กินข้าวนั่งโตกพาแลง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเพณีที่หาชมได้ยาก เช่น ประเพณีแห่ข้าวพันก้อน ขึ้น 12-13 ค่ำ เดือน 11 ประเพณีเทศมหาชาดเวชสันดรชาดก งานม่วนซื่นหมู่เฮาไทย-ลาวแง้ว ทองเอน ขึ้น 14-15 กลางเดือน 4 ของทุกปี บุญเบิกบ้านเดือน 6 เป็นต้น รับรองได้ว่ามาเยือนบ้านลาวแง้ว ทองเอน จะได้สัมผัสกับความเป็นลาวแง้วแบบดั้งเดิม และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวลาวแง้วอย่างแน่นอน หากยังไม่หนำใจกับการดื่มด่ำวัฒนธรรมแบบชาวลาว เดินทางต่อมาอีกนิดที่จังหวัดชัยนาท มาเยือนชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่ง กุดจอก จ.ชัยนาท ตั้งอยู่ที่บ้านกุดจอก ต.กุดจอก อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ชุมชนนี้สืบเชื้อสายมาจากลาวแถบหลวงพระบางเช่นกัน อพยพเคลื่อนย้ายมายังแผ่นดินไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์แถบจังหวัดกาญจนบุรี-สุพรรณบุรี และได้ย้ายมาตั้งบ้านเรือนบริเวณบ้านกุดจอกเป็นระยะเวลากว่าร้อยปี ทำให้เกิดการผสมผสานชาติพันธุ์ตลอดจนวิถีชีวิตวัฒนธรรม แต่ยังคงมีการสืบสานวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตน มีร่องรอยของประวัติศาสตร์ ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของลาวครั่ง

                ชุมชนได้เปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมเยือน โดยมีสถานที่สำคัญ ดังนี้ วัดศรีสโมสร เป็นวัดสำคัญประจำหมู่บ้าน ที่หอสวดมนต์เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการถาวร มีเนื้อที่จัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นการจัดแสดงเรื่องทางศาสนา มีพระพุทธรูปปางต่างๆ ส่วนที่สองจัดแสดงประวัติชุมชน เล่าเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนที่สามเป็นเรื่องของใช้โบราณที่บรรพบุรุษในชุมชนใช้มาจัดแสดง อาทิ ผ้าทอ คัมภีร์ใบลาน ภาพหอเก็บ

                ภายในชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่งกุดจอก มีการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีและได้เปิดบ้านให้ผู้สนใจได้มาศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต คือ ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำขนมจีนโบราณ การทอผ้าพื้นเมือง การจักสาน การทำอาหารท้องถิ่น สมุนไพรพื้นเมือง การผลิตข้าวซ้อมมือ พิธีกรรมความเชื่อ พิธีบายศรีสู่ขวัญ และการรับประทานอาหารพื้นเมือง มีการจัดงานประเพณี "ต้อนฮับสังขาร บุญสงกรานต์ปีใหม่ไท" ในระหว่างวันที่    14-16 เมษายนของทุกปี

เต็มอิ่มกันด้วยการศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมแบบชาวลาวแง้วและลาวครั่ง มาต่อกันที่การท่องเที่ยววิถีชุมชนที่บ้านมหาสอน อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี  เป็นชุมชนที่อยู่ริมคลองบางขาม ซึ่งเป็นสายน้ำประวัติศาสตร์ ชาวมหาสอนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีอาชีพเกษตรเป็นหลัก น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ดำเนินชีวิต เมื่อเข้ามาในชุมชน นักท่องเที่ยวจะได้นั่งรถอีแต๋นเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ บ้านสวนขวัญ บ้านชมการเพาะเห็ดที่บ้านเห็ด ไหว้พระทำบุญที่วัดมหาสอน ชมพระนาคปรกที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งพระประจำจังหวัดลพบุรี ชมวัดห้วยแก้ว เจดีย์ที่สร้างด้วยแรงศรัทรา ไหว้พระแม่จามเทวีที่วัดบางพึ่ง ล่องเรือชมวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำ ถ่ายรูปกับหนุมานอ้าปาก ที่วัดคุ้งท่าเลา ชมทิวทัศน์ ยามเย็นชมแพปลาที่บ้านญวณ ชมโบรถ์คริสต์ วัดนักบุญลูกา มีอายุ 101 ปี ชมบ้านไม้โบราณ และเรื่องเล่าจากคลองบางขาม เรียนรู้กับภูมิปัญญาไทย ชมการทำผ้าบาติกน้ำเต้าหู้ ชมพิพิธภัณฑ์เกษตรวิถีถิ่น ชมการงานฝีมือสานตะกร้า สู่สินค้า OTOP ห้าดาวระดับประเทศ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

–              ตุ๊กตาชาววัง บ้านบางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง โทร. (035) 662-995 ซึ่งเปิดทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น.

–              ชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่ง กุดจอก จ.ชัยนาท คุณนิวัฒนกร ศรีธรรมา โทร. 098-787-5421

–              ชุมชนลาวแง้ว บ้านทองเอน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี คุณปราณี บัวผนัส โทร.085-172-3312

–              บ้านมหาสอน อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี  คุณอิงณภัสร์ วงษ์สิทธิชัย โทร. 084-775-1435

 

 

You may also like

“มนพร”สุดปลื้ม! สนามบินแม่ฮ่องสอน-เลย-น่านนคร คว้ารางวัล”EIA Monitoring Awards 2024″

“มนพร”สุ