หรือทำเด่นทำดี…เขาหมั่นไส้ ?
ในบริบทสังคมราชการไทยตั้งแต่ยุคพระเจ้าเหา ยันนาทีนี้ ก็ยังไม่จางหายจากกรณีใครทำดีแล้วกลายเป็นคนโดดเด่น จึงไม่วายถูกเลื่อยขาเก้าอี้ด้วยความอิจฉาหาเรื่องไปเสียทุกครา
กรมอุทยานแห่งชาติฯที่คาบเกี่ยวมาจากท้องเดียวกับกรมป่าไม้ก็กลายเป็นประเด็นไปจนได้ ด้วยการแคะคุ้ยเรื่องเก่าเอามาแฉใหม่ว่า นายธัญญา เนติธรรมกุล สมัยที่รั้งตำแหน่งผู้อำนวยการส่งเสริมการปลูกป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้สร้างประวัติโยกเงินงบประมาณกว่า 103 ล้านบาทของกรมป่าไม้ไปเพาะชำกล้าไม้ทั้งเล็กทั้งใหญ่ถึง 52 ล้านต้น ไปแจกแต่ถุงเปล่าให้เสร็จภายใน 1 เดือน
จึงเป็นปุจฉาน่าสงสัยไม่น้อยว่า จะเป็นเรื่องโกงกินกล้าไม้จริงดังข้อกล่าวหาหรือไม่
แต่แค่สามัญสำนึก เมื่อได้ยินว่าเป็นคนระดับผู้อำนวยการแค่นั้น จะมีอิทธิฤทธิ์มีอำนาจงาบเงินเป็นร้อยล้านเอาไปถลุงกันง่ายๆได้หรือ ก็ทำให้รู้สึกว่ามีเหตุผลเบาหวิวไปหรือไม่
อย่างน้อยการอนุมัติงบมากถึง 103 ล้านบาท จำต้องมีขั้นตอนของคนระดับอธิบดี หรือรองอธิบดีรับรู้ รับทราบและรับรองว่า เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
พอตรวจสอบจริงๆ ปรากฏว่า เรื่องนี้ผ่านการพิจารณาและบันทึกถูกต้องตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2553 จากรองอธิบดีกรมป่าไม้ถึง 2 คน แล้วกรมป่าไม้ก็แปลงงบจัดสรรไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการถึง 221 หน่วยงานย่อยทั่วประเทศ
มันไม่ใช่ระดับผู้อำนวยการจะอนุมัติได้เองนี่
อีกข้อกล่าวหาหนึ่ง ก็พยายามจะบอกว่า เมื่อเพาะชำกล้าไม้ให้ได้ 52 ล้านต้นแล้ว จะต้องแจกจ่ายให้เสร็จภายใน 1 เดือน
ฟังแค่นี้ ก็เรียกว่า กล่าวหากันมั่วและเกินความจริงเกินไปหรือเปล่า เมื่อข้อเท็จจริงจำต้องผ่านกระบวนการเตรียมเมล็ดพันธุ์ เตรียมถุง เตรียมดิน เตรียมพื้นที่เพาะ และเตรียมเวลาที่เหมาะสมในการเพาะเพื่อไม่ให้เมล็ดพันธุ์เน่าเสียอีกอย่างน้อย 4-5 เดือน
ข้อเท็จจริงคือ ต้องเพาะกล้าในปี 53 และเตรียมแจกจ่ายในปีถัดไปโน่น
ยิ่งเมื่อรู้ว่า นายธัญญา เมื่อได้มาเป็นอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯแล้ว เคยฟ้องร้องคนที่เคยกล่าวหาเรื่องเดิมนี้มาแล้วเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 จึงทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นไปอีกว่า
เข้าทางสำนวนของหลวงวิจิตรวาทการที่ว่า “ อันที่จริงคนเขาอยากให้เราดี แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกที เขาหมั่นไส้…………” เป็นเรื่องความอิจฉาและไม่อยากเห็นใครได้ดีหรือไม่ แล้วก็สร้างภัยจากระบบการร้องเรียนไปให้นายธัญญาเก้าอี้สะเทือนเสียมั่ง….ดีกว่าอยู่เปล่าๆ
แต่เมื่อสังเกตการปฏิบัติงานในสถานะของเจ้ากรมอุทยานที่ผ่านมา เอาแค่การจัดเก็บรายได้ของอุทยานทั่วประเทศในปี 2560 ได้มากถึง 2,413 ล้านบาท เทียบกับปี 2559 ที่เก็บรายได้เพียง 696 ล้านบาทเท่านั้น ก็พอจะพิสูจน์ฝีมือการปฏิบัติหน้าที่ที่โปร่งใส ดึงเงินที่รั่วไหลจากการเที่ยวอุทยานของนักท่องเที่ยวได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
ก็น่าจะตอบโจทย์เรื่องปราบโกง ดีกว่าพวกขี้ฟ้องได้ไม่น้อยอยู่นะ !!!
“ บาแดง ”
Social Links