หุ้นไทยขยับขึ้น-ค่าบาทอ่อนสุดในรอบ 4 เดือน จับตายูเครน-รัสเซีย

หุ้นไทยขยับขึ้น-ค่าบาทอ่อนสุดในรอบ 4 เดือน จับตายูเครน-รัสเซีย

หุ้นไทยขยับขึ้น-ค่าบาทอ่อนสุดในรอบ 4 เดือน จับตายูเครน-รัสเซีย

                                                ……………………………………………….        

           เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือนที่ 33.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางทิศทางที่แข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งมีแรงหนุนจากท่าทีพร้อมเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเพื่อสกัดเงินเฟ้อสหรัฐฯ

•           หุ้นไทยปรับตัวขึ้น ขานรับความคาดหวังเชิงบวกต่อการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิดเพิ่มเติมของภาครัฐ แต่ช่วงบวกถูกจำกัด หลังประธานเฟดส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยเดือนหน้า

                                                …………………………………………………..

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

                เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือนที่ 33.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทยังคงอ่อนค่าสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย นำโดย เงินหยวนที่อ่อนค่าสุดในรอบ 7 เดือนจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน และเงินเยนที่ร่วงลงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปีระหว่างสัปดาห์ท่ามกลางความแตกต่างระหว่างแนวโน้มนโยบายการเงินของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นรับการคาดการณ์ถึงโอกาสของการขึ้นดอกเบี้ยแบบแข็งกร้าวของเฟดเพื่อสกัดเงินเฟ้อสหรัฐฯ นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมในระหว่างสัปดาห์จากแรงขายของต่างชาติในตลาดพันธบัตรไทย       

                ในวันศุกร์ (22 เม.ย.) เงินบาทปิดตลาดที่ 33.93 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันอังคารก่อนหน้า (12 เม.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 18-22 เม.ย. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 3,292.46 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ในตลาดพันธบัตร 11,686 ล้านบาท (มาจาก การขายสุทธิพันธบัตร 4,167 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 7,519 ล้านบาท)

                สำหรับสัปดาห์นี้ (25-29 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.70-34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ แรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ หลังการจ่ายปันผลของบจ. และผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ คำสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE Price Index) เดือนมี.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย. จีดีพีไตรมาส 1/65 และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์  

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

                หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยย่อตัวลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามแรงฉุดในหุ้นกลุ่มธนาคารระหว่างรอดูผลประกอบการงวดล่าสุด อย่างไรก็ดี SET Index พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นในช่วงต่อมาสอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิหุ้นไทยของต่างชาติในช่วงกลางสัปดาห์ ประกอบกับมีอานิสงส์จากความหวังต่อการผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมของภาครัฐเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งกระตุ้นแรงซื้อหุ้นหลายกลุ่ม อย่างไรก็ดี ช่วงบวกของหุ้นไทยถูกจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ หลังประธานเฟดส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลปัญหาเงินเฟ้อ        

                ในวันศุกร์ (22 เม.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,690.59 จุด เพิ่มขึ้น 0.97% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 70,003.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.26% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 5.07% มาปิดที่ 688.90 จุด    

                สำหรับสัปดาห์นี้ (25-29 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,675 และ 1,660 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,700 และ 1,710 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงผลประกอบการงวดไตรมาส 1/65 ของบจ. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนมี.ค. รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/65 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BoJ กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. ของจีน ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/65 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเม.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน

You may also like

เปิดตัวดัชนีชี้วัดความปลอดภัยของเด็ก บนโลกออนไลน์ทั้งในระดับชาติและระดับโลก

เปิดตัวด