ห่วงระบบการออมใช้ยามแก่
“ดร.พิสิฐ”ชี้ยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นเขา
ไร้หน่วยงานรับผิดชอบหลัก
ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในวาระรับทราบรายงานประจำปี 2563 ของกองทุนการออมแห่งชาติ ว่า ก่อนหน้านี้ตนได้อภิปรายในรายงานประจำปีของธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งสรุปได้ว่า เรากำลังมีปัญหาใหญ่ แต่หน่วยงานที่ทำงานนั้นมีกำลังไม่พอ และงานนี้ก็เช่นกัน วันนี้ กอช. แม้จะทำงานอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่พอ เนื่องจากประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาพที่เข้าสู่สังคมวัยชรา เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เรามีคนชราประมาณ 10% ของประชากร แต่วันนี้เรามีจำนวนประชากรในวัยชรา 20% อีกไม่เกิน 10 ปี จะเพิ่มถึง 30% ทำให้เกิดคำถามว่า ผู้ที่อยู่ในวัยชราเหล่านี้ก็จะไม่มีโอกาสทำงาน เพราะทุกแห่งที่รับทำงานล้วนจะบอกว่าอายุไม่เกิน 60 ปี แต่เมื่อพ้น 60 ปีแล้วจะไม่รับ หรือถ้ารับก็จะถูกเอาเปรียบ โดยได้รับการจ้างแบบชั่วคราว ยกเว้นคนบางกลุ่มในสังคมที่เมื่อถึงวัยชราจะมีความสุข เพราะมีเงินบำนาญรออยู่ อย่างกลุ่มข้าราชการ แต่คนส่วนใหญ่ที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำในภาคธุรกิจ จะมีเพียงส่วนหนึ่งที่อยู่ในระบบประกันสังคมเพียง 10 กว่าล้านคน แต่ยังมีคนอีกจำนวนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนที่ยังไม่มีความชัดเจนในอนาคตของตนเอง หากโชคดีมีสมบัติ มีมรดก มีที่ดิน ก็ยังพอทำเนาว่าถึงวัยชราแล้วยังมีเงินเหล่านี้ช่วยดูแลตนเอง บางคนอาจจะโชคดีที่ทำงานแล้วมีรายได้พอเลี้ยงดูตัวเองได้ แต่ก็เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ใน 20 ล้านคนนี้ ยังขาดการเหลียวแลจากรัฐ หรือมีเงินไม่พอใช้ในยามชรา
ดังนั้น กอช. ซึ่งรัฐบาลตั้งขึ้น มีเจตนารมณ์เพื่อให้ได้ดูแลคนที่อยู่นอกระบบ แต่งานที่ กอช. ได้ทำมาเป็นเวลาร่วม 10 ปี โดยปี 63 มีสมาชิกอยู่ 2.3 ล้านคน ปี 62 มีสมาชิก 2.3 ล้านคน ปี 61 มีสมาชิก 6 แสนกว่า ซึ่งความจริงค่าโมเมนตัมของการเพิ่มจำนวนสมาชิกจาก 6 แสน มาเป็น 2.3 ล้าน มีความต่อเนื่อง ทำให้ตนยังรู้สึกสบายใจว่าในอนาคตประเทศไทยจะไม่มีปัญหาหนัก แต่เมื่อโมเมนตัมนี้หยุดลง คือเมื่อไม่สามารถเพิ่มคนที่อยู่ในระบบนี้ได้ ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจ หรือจากตัวระบบที่ถูกออกแบบมานี้ไม่สามารถดึงดูดให้คนมาเป็นสมาชิก เพราะเงินที่ให้ 600 บาทต่อเดือนไม่จูงใจ และการที่เขาต้องจ่ายก็อาจเป็นภาระทำให้มองไม่เห็นประโยชน์อย่างแท้จริง
“ผมเป็นห่วงว่าระบบที่เราดำเนินการอยู่ตอนนี้ ยิ่งกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขา สมาชิกที่จะได้มาในอนาคตจะมีภาระค่าใช้จ่ายสูงมาก เป็นภาระอย่างมาก และอาจไม่เห็นหนทางที่จะถึงเป้าหมาย เพราะยังมีคนที่อยู่นอกระบบอีกมากที่ถูกปล่อยปละละเลย เมื่อเขาถึงวัยชราแล้วจะไม่มีเงินดูแลตนเองได้ ซึ่งนี่จะเป็นสังคมไทยที่เราจะต้องเจอในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้” ดร.พิสิฐ กล่าว
ทั้งนี้จึงได้ฝากประเด็นที่น่าสนใจว่า สิ่งที่ กอช. ทำทุกวันนี้ยังไม่พอ ซึ่งระบบการออมเพื่อใช้ยามชราจะต้องทำให้เต็มที่มากกว่านี้ ทั้งที่อยู่ในระบบ กบข. ก็ดี และในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แม้จะดีอยู่แล้ว แต่ถ้าจะต้องจัดระบบใหม่ขึ้นมา ควรจะต้องเป็นระบบภาคบังคับ เป็นระบบที่จะต้องให้ทุกคนมีการออมอย่างอัตโนมัติ โดยจะต้องมีหน่วยงานกลางซึ่งเป็นหน่วยงานในการกำหนดนโยบายอย่างแท้จริง
“ทุกวันนี้งานเรื่องการส่งเสริมการออมเพื่อใช้ยามชรายังเป็นงานฝาก ฝากไว้กับ ก.ล.ต. ในการดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฝากไว้กับกระทรวงการคลังในการทำนโยบาย กอช. หรืออื่นๆ จึงอยากให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการจัดระบบจัดระเบียบการออมเพื่อใช้ในวัยชราให้เต็มที่ มิฉะนั้นสังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่น่าสงสารมาก ทำงานเกือบตลอดชีวิต แต่เมื่อถึงวัยชรายังต้องทำงานต่อเพราะไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินดูแลตัวเองในยามชรา แต่สิ่งที่ กอช. ทำนี้ ผมเห็นใจ แต่ยังไม่พอที่จะแก้ปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวงในประเทศไทยวันข้างหน้า” ดร.พิสิฐ กล่าว
พร้อมกับเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งที่เราทำทุกวันนี้อาจต้องปรับปรุงหลายด้าน โดยเฉพาะประกันสังคมในส่วนของชราภาพ มาตรา 40 ที่มีความซ้ำซ้อนกับงานของ กอช. ซึ่งในรายงานที่เสนอต่อสภาฉบับนี้ ระบุว่า กอช. จะได้บูรณาการกับประกันสังคม มาตรา 40 ดังนั้นจึงอยากให้ กอช. ได้ชี้แจงคำว่า “บูรณาการ” หมายถึงอย่างไร เพราะในความรู้สึกส่วนตัวนั้นมองว่า 2 หน่วยงานนี้คงจะทำงานด้วยกันไม่ได้ เพราะแย่งลูกค้ากัน อีกทั้งเป็นภาระของรัฐที่จะต้องเป็นผู้จ่ายสมทบ นอกจากนี้ยังขอให้ กอช. ชี้แจงอีกว่า ระบบในทุกวันนี้รัฐจ่ายสมทบเต็มที่แล้วหรือไม่ ยังติดค้าง กอช. อยู่เท่าไหร่ เนื่องจาก ณ วันนี้ ยังมีช่องโหว่ในระบบการคลังหลายด้านที่รัฐบาลยังเป็นหนี้กับหลายหน่วยงาน
Social Links