อย่าซ้ำและย่ำรอยประวัติศาสตร์เดิมๆ

อย่าซ้ำและย่ำรอยประวัติศาสตร์เดิมๆ

 

อย่าซ้ำและย่ำรอยประวัติศาสตร์เดิมๆ

 

            ภาพเหตุการณ์ของขบวนการกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารของ “จอมพลถนอม กิตติขจร” ก่อนเกิดเหตุร้ายในทางการเมือง…ห้วง 14 ตุลาคม 2516 สำหรับผมแล้ว…อาจยังไม่ชัดเจนนัก? นั่นเพราะ วัยที่ยังละอ่อน

            แต่กับเหตุการณ์ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤติ “พฤษภาทมิฬ” เมื่อปี 2535 ที่นักศึกษาและประชาชน นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำ จปร.7 ที่เคลื่อนไหวต่อต้าน รัฐบาลของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และเพื่อน จปร.5 ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำมิรู้ลืม

            เพราะเป็นช่วงเวลาที่ผมได้เริ่มทำงานในสายวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว และจำต้องเดินทางไป-กลับผ่านถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อันเป็น “จุดเกิดเหตุ” ของหลายๆ เหตุการณ์ร้ายๆ ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย…อยู่บ่อยครั้ง

            ยิ่งเวลาผ่านไป…มีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง กระทั่งได้เห็นร่องรอยที่ปรากฏ ทั้งจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และช่วง “ตุลาวิปโยค” 6 ตุลาคม 2519 ต่อเนื่องจนถึง “พฤษภาทมิฬ” และเหตุการณ์เมษายน 2552 และเมษายน 2553 โดยเฉพาะเหตุการณ์หลัง..ที่มีคนตายเฉียด 100 ศพ และบาดเจ็บหนัก-เบาอีกกว่า 2,000 คนแล้ว

            ก็ได้หวังใจว่า…คนรุ่นต่อมา ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย “ผู้ถืออำนาจรัฐ” ซึ่งยามนี้…คงไม่พ้น “รัฐบาล คสช.” ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และฝ่ายต่อเนื่องที่นับวันจะขยายตัว ไม่จำเป็น…สีเหลือง สีแดง หรือสีขาวกันแล้ว จะได้ศึกษาร่องรอยประวัติศาสตร์ความขัดแย้งข้างต้น เพื่อมิให้เกิดการซ้ำรอยความเลวร้ายทางประวัติศาสตร์อีกครั้ง

            กับภาพเหตุการณ์ที่กลุ่มอาจารย์นักวิชาการและนักศึกษา รวมถึงภาคประชาชน ได้จัดกิจกรรม เดินเส้นทางถนนมิตรภาพ จากรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น ตลอดเส้นระยะทาง 8 แสนก้าว ราว 450 กม. เมื่อบ่ายวันเสาร์ กระทั่งถูกสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด? เพื่อป้องกัน “กลุ่มมือที่สาม” ที่ไม่หวังดี หรือเหตุผลอื่นๆ นั้น มองแล้ว…ให้ย้อนนึกไปถึงเหตุการณ์เดือนตุลาฯและพฤษภาฯยิ่งนัก เกรงปัญหาเล็กๆ นี้ จะค่อยๆ ก่อตัวเป็นกองเพลิง และกลายเป็นปม “น้ำผึ้งหยดเดียว” ตามมา

            วันนี้…พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ คสช. คงพอประเมินตัวเองออกว่า…ตลอดระยะเวลาที่ “ถืออำนาจรัฐ” และเข้าบริหารประเทศ นับจากวันยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหาร “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 จนใกล้จะครบ 4 ปีเต็มนั้น เป็น…บวกหรือลบ!

            กับห้วงแรกๆ ของ คสช. ที่เอะอะอะไรก็ไล่จับฝ่ายต่อต้าน ที่แต่ก่อนมักจะเห็นกลุ่มก้อนคนหัวก้าวหน้า ทั้งที่เป็นเครือข่ายคนเสื้อแดงและไม่ใช่คนเสื้อแดง มีการยัดข้อหาหนัก-เบา จนถึงขั้นเรียกไปปรับทัศนคติ มีบ่อยครั้งมาก ซึ่งมันต่างจากวันนี้…ที่ดูเหมือน วลี “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” จะขยายวงกว้างขึ้นไปทุกขณะ

            ยุทธศาสตร์ “ต้องไม่เสียของ” หลังการทำรัฐประหาร กระทั่งนำมาสู่การมีตัวตนของ “รัฐบาล คสช.” ต่อเนื่องด้วยการยืดอายุรัฐบาล จากเดิมที่คนไทยมักจะได้เห็น “รัฐบาลทหาร” มีอายุ 1 ปีบวกลบ เช่นที่หลายๆ คณะ โดยเฉพาะ คณะ คมช.ของ  “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เคยทำเอาไว้ ก็เปลี่ยนไป…กลายเป็นรัฐบาลทหารที่หวังจะแช่แข็งประเทศให้ได้ถึง 5 ปี

            4 ปี ก้าวสู่ปีที่ 5 ของ คสช.นั้น ดูจากยุทธวิธีต่างๆ ที่เลือกนำมาใช้แล้ว บอกตามตรง…รู้สึกเป็นห่วงและเกรงว่ามันจะไป “เข้าทาง” ของใครหลายๆ คน? ไม่ว่าจะเป็น…กลุ่มคนแก่ที่รู้สึกอึดอัดหัวใจ กับการถือครองอำนาจรัฐของ คสช. รวมถึงกลุ่มคนที่มี “หัวหน้าก๊วน” เคยชี้ป้าย “เว็ต แอนด์ ซี” ให้ได้เห็นกันก่อนหน้านี้…จริงๆ

            แต่ไม่ว่าจะอย่างไร…จากปัญหา “ริชาร์ด มิลล์” จนถึง “วิคตอเรีย ซีเคร็ท” นั้น ผมไม่มั่นใจเลยว่า การเลือกยุทธศาสตร์ครั้งนี้ ของทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ คสช. จะยังถูกต้องและสอดรับกับสถานการณ์นี้และสถานีป้ายหน้าแค่ไหน?

            หวังใจครับว่า…บ้านเมืองและร่อยรอยประวัติศาสตร์เดิมๆ ในทางการเมืองของไทย จะไม่ซ้ำรอยเดิม จนกลายเป็นความเสียหายระดับ “ซิวิล วอร์”!!!

You may also like

ชูเมืองเก่าภูเก็ต-แม่กลองเป็นเมืองนำร่อง สู่ต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยวัฒนธรรมระดับโลก

ชูเมืองเ