“อลงกรณ์”ยันรัฐไม่เคยทิ้งประมง
หนุนเต็มที่!แก้กม.-ปูงบ 2 หมื่นล้าน
จัดหนัก-จัดเต็ม! “อลงกรณ์”มั่นใจ รัฐบาลไม่เคยทอดทิ้งชาวประมง ให้การดูแลมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อประมง ที่ทำเป็นครั้งแรกของประเทศไทยมีในรัฐบาลชุดนี้ ไปจนถึงการซื้อเรือที่ต้องการออกนอกระบบ งานนี้เทงบก้อนโต 2 หมื่นล้าน หวังหนุนเต็มที่ ตลอดจนการแก้ไขกฏหมายที่ล้าหลัง ไม่เป็นธรรม ขอให้มั่นใจ กระทรวงเกษตรฯยุค ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ก้าวหน้าทันสมัย เพื่อประชาชนและเกษตรกรทุกคน
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในกรณีที่นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้มีการระบุว่า รัฐบาลไม่มีมาตรการในการช่วยเหลือและไม่ได้รับการเหลียวแลอีกทั้งมีการดำเนินการที่ล่าช้ามาก
“ที่ผ่านมานายกสมาคมการประมงได้ร่วมประชุมกับทุกสมาคมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด3เดือน ถึง 8 ครั้ง และยังมีการประชุมย่อยอื่นๆอีกกว่า10ครั้ง น่าจะทราบถึงความใส่ใจของรัฐบาลที่มีต่อชาวประมง และความคืบหน้าในแต่ละข้อเรียกร้อง”
สำหรับการเรียกร้องนั้น มีทั้งสิ้น 34 เรื่อง ซึ่งนายอลงกรณ์ยอมรับว่าไม่เข้าใจ ว่าทำไมถึงออกมาพูดราวกับรัฐบาลไม่เหลียวแล จึงขอชี้แจงว่าปัญหาประมงที่สะสมหมักหมมมานาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการร่วมกับสมาคมประมงทุกสมาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาและฟื้นฟูศักยภาพประมงมาโดยตลอด เช่น โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูศักยภาพทั้งประมงพื้นบ้านประมงพาณิชย์และประมงนอกน่านน้ำ1หมื่นล้าน โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยกว่า 2 พันล้านและโครงการซื้อเรือที่ประสงค์จะนำออกนอกระบบกว่า2พันลำ ในวงเงิน 7 พันล้าน เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากร ที่เป็นวงเงินรวมกันกว่า 17,000ล้าน ซึ่งรัฐมนตรีเกษตรฯได้ลงนามไปตั้งแต่เดือนที่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป
“โดยเฉพาะโครงการสินเชื่อจากธกส.นั้นถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ ธกส.จะให้สินเชื่ออาชีพประมง ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลใดเคยดำเนินการมาก่อนเลย”
สำหรับข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมายประมงนั้น กระทรวงเกษตรฯได้ตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานทั้งยกร่างกฎหมายใหม่ เช่น พรบ.กองทุนประมงและพรบ.สภาการประมงแห่งชาติให้แล้วเสร็จใน90วัน อีกทั้งการแก้ไขกฎระเบียบรวมทั้งกฎหมายที่มีบทบัญญัติโทษรุนแรงเกินมาตรฐานสากลและกฎไอยูยู(IUU) ซึ่งหลายฉบับอยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกาและเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ส่วนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานตามมาตรา 83 ของพรก.ประมงนั้น กรมประมงได้ส่งเรื่องให้กระทรวงแรงงานแล้วเพื่อนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อดำเนินการจัดหาแรงงานประมงต่อไป
ความคืบหน้าที่เห็นๆได้ชัดอีกประการคือ หลังจากประชุมร่วมกับทุกสมาคมประมง 6 ครั้งใน 6 สัปดาห์แรก จนมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อนรัฐมนตรีเกษตรฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยและคณะอนุกรรมการ4คณะได้แก่
1.คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพื้นบ้าน
2.คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพาณิชย์ และการประมงนอกน่านน้าไทย
3.คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้า
4.คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประมงตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาการประมงของไทยแบบยั่งยืนโดยมีการประชุมทันทีหลังมีการแต่งตั้งอย่างน้อย2ครั้งในเดือนตุลาคมรวมทั้งสร้างโอกาสให้กับชาวประมงและผู้ประกอบการประมงด้วยการขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนกลุ่มประเทศแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียรวมทั้งองค์การสากลเช่นยูเอ็นและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) “นายอลงกรณ์กล่าว
ด้านปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำอันเป็นผลเนื่องมาจากการนำเข้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศนั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายและมีมาตรการในการควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานการแก้ไขการทำการประมงผิดกฎหมาย รวมถึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างเข้มข้นและจับกุมไปแล้วหลายกรณีเพื่อป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าสัตว์น้ำที่ผิดสุขอนามัยสัตว์น้ำและได้จากการทำการประมงผิดกฎหมาย
◦ “จึงอยากจะเรียนให้ทราบว่า รัฐบาลห่วงใยพี่น้องชาวประมงมาตลอด กระทรวงเกษตรฯเองก็ไม่เคยหยุดนิ่ง พร้อมที่จะเดินหน้าแก้ไขให้กับทุกปัญหาของการประมงและพี่น้องเกษตรกรทุกคน เรามีนโยบายด้านนี้ชัดเจน ซึ่งในวันที่ 1 มกราคมปีหน้านี้ เราเริ่มเดินหน้านโยบาย “ควิกวิน”ที่จะสามารถบริการพี่น้องๆได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีการนำเทคโนโลยี่เข้ามาบริการประชาชนและเกษตรกร เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น ในยุคเทคโนโลยี่ 4.0 และ 5.0 ที่กำลังจะมานี้”นายอลงกรณ์ พลบุตรกล่าวทิ้งท้าย
Social Links