อาชีวะ น้อมนำเดินตามแนวทางพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินโครงการ ชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยการน้อมนำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตแบบพออยู่พอกิน พึ่งพาตนเองได้ เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ด้วยการทำการเกษตรแบบธรรมชาติ ลด ละ เลิก การใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงในการเพาะปลูก มาส่งเสริมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และพัฒนาชุมชนรอบๆ โรงไฟฟ้าของกฟผ.ในการเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างธรรมชาติและการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งนี้ได้ริเริ่มดำเนินการในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2546 ปัจจุบันขยายผลการดำเนินงานไปยังวิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ จำนวนทั้งสิ้น 103 แห่ง
เลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้มี 4 กิจกรรม คือ แปลงสาธิตการเพาะปลูก การปศุสัตว์ การประมง และการรักษาสิ่งแวดล้อมตามวิถีธรรมชาติ โดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพแทนการใช้สารเคมี รวมถึงการเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ความรู้ในการทำเกษตรกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนให้ ครู นักเรียน นักศึกษา ได้ศึกษาทดลอง คิดค้นสิ่งประดิษฐ์และงานวิจัยที่เกี่ยวของกับชีววิถีฯ นำผลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ด้านการเกษตรกรรม ทำให้สามารถลดต้นทุนในการผลิตและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากขึ้น
สำหรับโครงการชีววิถี สอศ.มีสถานศึกษาในสังกัด ระดับภาค 4 แห่ง ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงาน ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานประจำปี ทั้งระดับภาค และระดับประเทศ เพื่อคัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่น ประกอบด้วย ศูนย์ภาคเหนือ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ ศูนย์ภาคกลาง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว ศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม และศูนย์ภาคใต้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร
ด้าน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า การดำเนินงานตามโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กฟผ.มีการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการชีววิถี ประจำปี 2560 ซึ่ง สอศ. จะแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจประเมินผลการดำเนินงาน ทั้งในระดับภาคและระดับประเทศ โดยมีผู้แทนทั้งจากสอศ. และกฟผ. ร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ติดตามประเมินผลและคัดเลือกผู้มีผลการดำเนินงานดีเด่นรับรางวัลจาก กฟผ. ซึ่งแบ่งกิจกรรมเป็น 8 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 การดำเนินงานภายในวิทยาลัยดีเด่น ประเภทที่ 2 ครู บุคลากรทางการศึกษา นำไปใช้และขยายผลดีเด่น ประเภทที่ 3 นักเรียน นักศึกษา ปัจจุบันนำไปใช้และขยายผลดีเด่น ประเภทที่ 4 ราษฎรที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัย และใช้ได้ผลดีเด่น ประเภทที่ 5 ชุมชนที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัย และใช้ได้ผลดีเด่น ประเภทที่ 6 โรงเรียนที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัย และใช้ได้ผลดดีเด่น ประเภทที่ 7 การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในโครงการชีววิถีฯ ดีเด่น และประเภทที่ 8 งานวิจัยในโครงการชีววิถีฯ ดีเด่น รวมทั้งให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานให้แก่วิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 5,140,600 บาท และเงินรางวัลในการประเมินผลการดำเนินงาน ประจำปี 2560 ด้วย และในส่วนของ สอศ. จะสนับสนุนงบประมาณในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการชีววิถีฯ ทั้งในระดับภาคระดับประเทศ
Social Links