เกษตรฯเบตงสำรวจความเสียหายภัยธรรมชาติ
ต.ตาเนาะแมเราะ ดินสไลด์-สวนทุเรียนเสียหาย
เกษตรอำเภอเบตงสำรวจความเสียหายสถานการณ์ภัยธรรมชาติ หมู่ที่ 3 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีดินสไลด์และต้นทุเรียนล้มเสียหายบางส่วน
นางสาวอาภรณ์ รัตนพิบูลย์ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอเบตง มอบหมายให้นางสาวพรพรรณ มณีโชติ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายสถานการณ์ภัยธรรมชาติ ณ หมู่ที่ 3 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา พบมีดินสไลด์และต้นทุเรียนล้มเสียหายบางส่วน พร้อมแนะนำขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อขอรับความช่วยเหลือเบื้องต้น
สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนได้รับความเสียหาย เกษตรกรสามารถยื่นแบบแจ้งความจำนงขอรับการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช กับกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต.หรือเทศบาล อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ผู้แทนเกษตรกรที่ประสบภัย เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลในพื้นที่ เพื่อลงตรวจสอบพื้นที่จริง ซึ่งหลังจากได้รับแจ้งเรื่อง คณะกรรมการอนุกรรมการตรวจสอบความเสียหายระดับหมู่บ้าน ประกอบไปด้วย กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต.หรือเทศบาล อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ผู้แทนเกษตรกรที่ประสบภัย เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลจะลงพื้นที่ตรวจสอบ หากพบว่ามีเกษตรกรที่ผ่านหลักเกณฑ์การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 ตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินพ.ศ. 2564 กำหนดให้การช่วยเหลือไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ในอัตรา (ไม้ผลไม้ยืนต้น) ในอัตราไร่ละ 4,048 บาท
ขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศภาคใต้(ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส ตั้งแต่จังหวัดสงขลาลงไป ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร จึงขอให้เกษตรกรและประชาชนบริเวณระมัดระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย โดยเฉพาะสวนไม้ผลซึ่งเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายปี เกษตรกรจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งภัยแล้ง ลมพายุ และน้ำท่วมไว้ล่วงหน้า และเพื่อเป็นการป้องกันบรรเทาความเสียหายหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบหรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิตออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ต้านลม สำหรับต้นไม้ผลที่อายุมากและมีลำต้นสูง อาจตัดทอนส่วนยอดให้ต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มง่ายเมื่อถูกลมพายุพัดแรง ขณะเดียวกันควรใช้เชือกโยงกิ่งและต้น เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก รวมทั้งใช้ไม้ค้ำกิ่งและค้ำต้นเพื่อช่วยพยุงไม่ให้โค่นลงได้ง่าย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรสามารถขอความช่วยเหลือและคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ
Social Links