เงินบาทผันผวน-หุ้นไทยร่วงต่อเป็นสัปดาห์ที่ 4
จับตาตัวเลขเงินเฟ้อไทย-ประธานเฟดแถลง
……………………………………………………….
- เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือน ก่อนพลิกแข็งค่ากลาง-ปลายสัปดาห์ ตามทิศทางเงินหยวนหลัง PMI จีนแข็งแกร่ง ขณะที่ตลาดกลับมารอติดตามสัญญาณจากประธานเฟด (7-8 มี.ค.) หลังปรับตัวรับโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดไปมากแล้ว
- SET Index ร่วงลงตลอดสัปดาห์ โดยมีปัจจัยลบหลักๆ มาจากความกังวลว่า เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย และตัวเลขส่งออกไทยที่หดตัวมากกว่าคาด
……………………………………………………..
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยอ่อนค่าในช่วงแรก ก่อนพลิกแข็งค่ากลาง-ปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าไปที่ 35.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือน โดยมีปัจจัยลบจากข้อมูลดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่พลิกกลับมาขาดดุลในเดือนม.ค. สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ยังได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์สอดคล้องกับการฟื้นกลับมาของเงินหยวนที่ได้รับอานิสงส์จากข้อมูล PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนก.พ. ของจีนที่บ่งชี้ถึงการเริ่มฟื้นตัวขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีน
กรอบแข็งค่าของเงินบาทเริ่มจำกัดลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอติดตามสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ จากสุนทรพจน์ของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสในวันที่ 7-8 มี.ค. นี้
ในวันศุกร์ที่ 3 มี.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.81 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 ก.พ.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-3 มี.ค. นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องที่ 10,142 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 3,192 ล้านบาท (ซื้อสุทธิ 8,179 ล้านบาท แต่มีตราสารหนี้หมดอายุ 4,987 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (6-10 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.40-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด อัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของไทย ทิศทางเงินลงทุนของต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน จาก ADP เดือนก.พ. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางออสเตรเลีย รวมถึงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศเดือนม.ค.-ก.พ. ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.พ. ของจีนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดต่ำสุดในรอบกว่า 2 เดือน ทั้งนี้ หุ้นไทยร่วงลงตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยปัจจัยกดดันหลักๆมาจากความกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเชิงรุกมากขึ้น หลังตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี PCE เดือนม.ค. ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าตลาดคาด และตัวเลขส่งออกเดือนม.ค. ของไทยที่ออกมาหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่กกร. ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยในปีนี้ลงตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก อนึ่ง หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งสวนทางภาพรวมในสัปดาห์นี้ โดยมีแรงหนุนจากหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งจากแนวโน้มธุรกิจที่ยังคงสดใส และหุ้นบริษัทด้านการสื่อสารจากประเด็นการควบรวมธุรกิจ
ในวันศุกร์ (3 มี.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,606.88 จุด ลดลง 1.66% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 63,810.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.08% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.17% มาปิดที่ระดับ 557.36 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (6-10 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,575 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,620 และ 1,630 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของไทย ถ้อยแถลงของประธานเฟด ประเด็นการเมืองภายในประเทศ รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนม.ค. ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนก.พ. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.พ. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค
Social Links