เงินบาทอ่อนค่าต่อ หุ้นไทยปรับตัวลง จับตาการเมืองไทย-สัญญาณเศรษฐกิจและค่าเงินหยวนจีน

เงินบาทอ่อนค่าต่อ หุ้นไทยปรับตัวลง จับตาการเมืองไทย-สัญญาณเศรษฐกิจและค่าเงินหยวนจีน

เงินบาทอ่อนค่าต่อ หุ้นไทยปรับตัวลง

จับตาการเมืองไทย-สัญญาณเศรษฐกิจและค่าเงินหยวนจีน

…………………………….

  • เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามทิศทางเงินหยวนท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่ารับสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด
  • SET Index ปรับตัวลงตามทิศทางหุ้นต่างประเทศท่ามกลางปัจจัยลบ อาทิ ความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจจีน และการปรับขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ

…………………………………

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่องตามภาพรวมของสกุลเงินในเอเชีย นำโดย เงินหยวนที่ถูกกดดันจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน หลังข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค. ออกมาอ่อนแอ ประกอบกับมีสัญญาณผ่อนคลายทางการเงิน หลังจากที่ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับโครงการเงินกู้ระยะกลางอายุ 1 ปีลง นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกและสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติในระหว่างรอความชัดเจนของประเด็นทางการเมืองในประเทศ

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังขยับแข็งค่าขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ โดยมีแรงหนุนจากบันทึกการประชุมเฟดที่สะท้อนสัญญาณกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ หลังเงินหยวนฟื้นตัวขึ้นบางส่วนตามการส่งสัญญาณผ่านการกำหนดอัตราอ้างอิงเงินหยวนของธนาคารกลางจีน

ในวันศุกร์ที่ 18 ส.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.09 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ส.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 15-18 ส.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,305 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 12,096 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 8,384 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 3,712 ล้านบาท)

สัปดาห์นี้(21-25 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.00-35.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 และปัจจัยทางการเมืองของไทย สัญญาณเศรษฐกิจและค่าเงินหยวนของจีน และสุนทรพจน์ของประธานเฟดจากงานประชุมสัมมนาประจำปีของเฟดที่แจ็กสัน โฮล ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภคเดือนส.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน และข้อมูล PMI เดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน  อังกฤษ และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ โดยในช่วงแรกหุ้นไทยปรับตัวลงเนื่องจากความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจจีนที่มีสัญญาณชะลอตัวลง และธนาคารหลายแห่งของสหรัฐฯ อาจถูกปรับลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือโดยฟิทช์ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงระหว่างสัปดาห์ จากความคาดหวังว่าจะมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ดีหุ้นไทยพลิกร่วงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงกดดันจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ และการยื่นล้มละลายของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน

ในวันศุกร์ที่ 18 ส.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,519.12 จุด ลดลง 1.04% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 54,486.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.90% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.24% มาปิดที่ระดับ 458.69 จุด

สำหรับสัปดาห์นี้(21-25 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,505 และ 1,485 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,540 และ 1,560 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 และตัวเลขส่งออกเดือนก.ค. ของไทย สถานการณ์การเมืองในประเทศ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือนก.ค. ดัชนี PMI เดือนส.ค. (เบื้องต้น) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนส.ค. ของจีน รวมถึงดัชนี PMI เดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่นและยูโรโซน

You may also like

เปิดตัวดัชนีชี้วัดความปลอดภัยของเด็ก บนโลกออนไลน์ทั้งในระดับชาติและระดับโลก

เปิดตัวด