เงินบาทแข็งค่าแต่ผันผวน-ตลาดหุ้นไทยยังขึ้นต่อเนื่อง ลุ้นตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 –สถานการณ์ไต้หวัน-จีน-สหรัฐ

เงินบาทแข็งค่าแต่ผันผวน-ตลาดหุ้นไทยยังขึ้นต่อเนื่อง ลุ้นตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 –สถานการณ์ไต้หวัน-จีน-สหรัฐ

เงินบาทแข็งค่าแต่ผันผวน-ตลาดหุ้นไทยยังขึ้นต่อเนื่อง

ลุ้นตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 –สถานการณ์ไต้หวัน-จีน-สหรัฐ

                                                                …………………………………………

•             เงินบาทผันผวนในกรอบแข็งค่า โดยแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ จากการคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไป หลังตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เริ่มชะลอลง

•             หุ้นไทยยังยืนเหนือ 1,600 จุด ได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ

                                                                ……………………………………..

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

                เงินบาทผันผวนในกรอบแข็งค่า และแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบประมาณ 1 เดือนครึ่งที่ 35.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ โดยการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับหลายสกุลเงินในภูมิภาค ประกอบกับมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดีเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ หลังการประชุมกนง. ซึ่งมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ไปที่ระดับ 0.75% และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะข้างหน้า  

                เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในช่วงก่อนวันหยุดของตลาดในประเทศ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังจากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ค. ชะลอลงมาที่ 8.5% YoY (ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 8.7% YoY) ซึ่งสนับสนุนมุมมองว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ น่าจะผ่านพ้นจุดสูงสุดแล้ว และอาจทำให้เฟดไม่จำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า

                ในวันพฤหัสบดีที่ 11 ส.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 35.17 (หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 35.16) เทียบกับระดับ 35.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 ส.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 8-11 ส.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 14,431 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET INFLOW เข้าตลาดพันธบัตร 8,487 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 8,997 ล้านบาท แต่มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 510 ล้านบาท)

                สัปดาห์นี้ (15-19 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 34.70-35.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/65 ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สหรัฐฯ-จีนในประเด็นไต้หวัน และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนส.ค. ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ค. และรายงานการประชุมเฟด เมื่อวันที่ 26-27 ก.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ค. และจีดีพีไตรมาส 2/65 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีก 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

                ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สี่ ทั้งนี้ SET Index ปรับตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค หลังมีสัญญาณสะท้อนว่าแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เริ่มชะลอลง ซึ่งช่วยคลายความกังวลบางส่วนเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ประกอบกับมีแรงซื้อต่อเนื่องจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารและพลังงาน อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงเล็กน้อยในระหว่างสัปดาห์ ตามแรงขายหุ้นบางตัวในกลุ่มไฟแนนซ์และเทคโนโลยีจากผลประกอบการที่ออกมาแย่กว่าคาด ขณะที่ผลการประชุมกนง. ในระหว่างสัปดาห์ออกมาตามตลาดคาด และกนง.ยังส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป      

                ในวันพฤหัสบดี (11 ส.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,622.26 จุด เพิ่มขึ้น 1.32% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 66,580.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.85% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.32% มาปิดที่ 610.95 จุด    

                สำหรับสัปดาห์นี้(15-19 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,585 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,635 และ 1,650 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลชจีดีพีไตรมาส 2/65 ของไทย (15 ส.ค.) และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ค. รวมถึงรายงานการประชุมเฟด ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/65 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ค. ของยูโรโซน ข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

You may also like

TQM ร่วมกับ MSIG ส่งความสุขท้ายปี มอบฟรี “ประกันภัยรถยนต์ตามคน” ขับคันไหนก็คุ้มครอง

TQM ร่วม