“เชื่อมั่นนักลงทุน”อีก 3 เดือน“ร้อนแรง”
อิเล็กทรอนิกส์สุดฮอต-แฟชั่นกร่อย!
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า “ดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 126.40 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” อย่างต่อเนื่อง นักลงทุนคาดหวัง
แผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการไหลเข้าของเงินทุน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกสามในไทย รองลงมาคือความขัดแย้งระหว่างประเทศ และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนพฤษภาคม 2564 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (สิงหาคม 2564) อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” (ช่วงค่าดัชนี 120 -159) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 40 ความเชื่อมั่นนักลงทุนเกือบทุกกลุ่มอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ยกเว้นความเชื่อมั่นนักลงทุนสถาบันในประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON)หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION) ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ แผนการกระจายวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19
ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกสาม
“ผลสำรวจ ณ เดือนพฤษภาคม 2564 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลง 3% อยู่ที่ระดับ 125.37 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9% อยู่ที่ระดับ 150.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 26% อยู่ที่ระดับ 118.75 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติคงตัวที่ระดับ 120.00
ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 SET index ผันผวนอยู่ระหว่าง 1,548.13 —1,593.59 โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในสัปดาห์แรก ตามแรงหนุนของตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นยุโรป และความคาดหวังที่จะได้จำนวนวัคซีนเพิ่มขึ้นจากการร่วมมือของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงอย่างหนักในช่วงกลางเดือน เนื่องจากนักลงทุนกังวลอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มสูงเกิดคาด ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมถึงอาจลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เร็วกว่าที่คาดการไว้
ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งปัจจัยในประเทศซึ่งพบคลัสเตอร์การระบาดใหม่หลายแห่งในกรุงเทพ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 2 พันรายต่อวัน การพบไวรัสสายพันธุ์อินเดียในประเทศไทย และความล่าช้าของการกระจายวัคซีน โดยมีปัจจัยบวกคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลมูลค่ารวม 2.5 แสนล้านบาท ส่งผลให้ SET index ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ปิดที่ 1,593.59 จุด
ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และยุโรป จากการทยอยเปิดประเทศหลังจากประชาชนจำนวนมากได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งจะทำให้ภาคการส่งออกไทยได้อานิสงส์ไปด้วย การติดตามผลการประชุมธนาคารกลางในยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่นและอังกฤษ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการเฝ้าระวังการระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย อาทิ มาเลเซีย เวียตนาม
ส่วนของปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การสรรหาและแจกจ่ายวัคซีนในประเทศให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ ผลการพิจารณา พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาท และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้”
Social Links