เป็นมากกว่า Telemed และไม่ได้มีแต่หมอ!
Health Companion คว้า เภสัชจุฬาฯ และ PROLAB
ร่วมปั้น Healthcare Platform แบบครบเครื่อง! เพื่อคนไทย
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ถือว่าอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน หลังจากที่ระลอกสองผ่านพ้นไป แต่ทำเอาหลายภาคส่วนต้องล้มพับไปไม่น้อย แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอสำหรับคนที่มองเห็น โดยเฉพาะในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวงการที่เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมากมาย และสิ่งที่เรามักได้ยินกันบ่อยที่สุดนั่น คือ Telemedicine หรือโทรเวชกรรม นวัตกรรมการรักษาที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย ให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรับคำปรึกษาจากแพทย์ได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ที่ส่งผลช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และแน่นอนว่าลดการติดเชื้อจากสถานพยาบาลได้ด้วย
หมดยุค Telemed เข้าสู่ยุค Healthcare Platform
ณ วันนี้ เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าแทบจะเปลี่ยนแปลงวันต่อวัน และอีกหนึ่งบุคคลที่ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษเมื่อพูดถึงแวดวงเทคโนโลยีในประเทศไทย นั่นคือ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ผู้ซึ่งวันนี้ได้เริ่มต้นเดินหน้าสร้างสิ่งที่เรียกว่า Healthcare Platform ด้วยแรงบันดาลใจจากความสูญเสียในชีวิต “ช่วงที่ผ่านมาผมสูญเสียบุคคลใกล้ชิดท่านหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐอยู่หลายแห่ง ผมจึงมีโอกาสได้เข้าออกโรงพยาบาลรัฐอยู่หลายครั้งและหลายที่ ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ และความแตกต่างในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขของรัฐ จึงทำให้ผมเกิดความคิดว่าในฐานะที่เราเป็นคนสายวิศวะ มีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถช่วยยกระดับการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพของประชาชนคนไทยให้ดีขึ้นได้ ด้วยความรู้ความสามารถที่เรามี นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้เราเริ่มต้นที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อแก้ Pain point นี้”
แต่หากจะพูดถึง Telemed ก็ดูจะคับแคบเกินไปสำหรับวิสัยทัศน์ที่กว้างสุดลูกหูลูกตาของชายคนนี้ หลังจากได้ลงมือศึกษา ทำการบ้านและพูดคุยกับผู้คนในวิชาชีพด้านสุขภาพมากมาย เขาให้คำจำกัดความกับแพลตฟอร์มนี้ไว้อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆว่า มันคือ Healthcare Platform โดยก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ
น้องใหม่ในชื่อ Health Companion เพื่อขับเคลื่อนฝันครั้งใหม่ให้กลายเป็นจริง โดยนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร
ผ่ากลยุทธ์ Health Companion สร้างแพลตฟอร์มสุขภาพ!
นายอำนาจ สุกาญจนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Health Companion เล่าว่า “ในวันนี้การจะทำดิจิทัลแพลตฟอร์มขึ้นมาสักอันถือว่าไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือมันตอบโจทย์การใช้งานจริงๆหรือไม่ สิ่งที่เรากำลังจะทำนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ป่วยและโรงพยาบาล ดังนั้นการดำเนินงานอย่างมีกลยุทธ์เป็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในช่วงต้นของการดำเนินงาน เราเน้นการสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาทั้งแพทย์ เภสัชกร Lab หรือห้องปฏิบัติการ หน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน และอีกมากมาย เพื่อมาร่วมกำหนดแนวทาง และให้ Know-how ในการออกแบบระบบที่ทุกวิชาชีพจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งต่อการบริการที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยได้”
“ระบบที่เรากำลังออกแบบอยู่นี้จะมีหลายวิชาชีพ หลายโรงพยาบาล หลายหน่วยงาน เข้ามาร่วมมือกัน โดยยึดหลักสำคัญสูงสุดคือ Patient Centric หรือการมองผู้ป่วยเป็นศูนย์กลา งและคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ซึ่งคาดว่าเริ่มเห็นแพลตฟอร์มอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงกลางปี 2564 นี้” อำนาจ สุกาญจนกุล กล่าว
เภสัชจุฬาฯ หวังใช้เทคฯ ส่งเสริมบทบาทเภสัชกร
Health Companion เริ่มต้นดำเนินงานตามแผนด้วยการคว้าเอาสองหน่วยงานชั้นนำอย่าง CUPE หรือ CU Pharmacy Enterprise บริษัทสตาร์ทอัพของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ PROLAB หรือ บริษัท โปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ แมเนจเม้นท์ คอร์ป จำกัด มาร่วมสร้างปรากฎการณ์ครั้งสำคัญครั้งนี้ ด้วยการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU – Memorandum of Understanding) โครงการแอปพลิเคชั่นบริการสาธารณสุขและระบบส่งเสริมสุขภาพ
ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานบอร์ด ซียูฟาร์มาซี เอ็นเทอร์ไพรส์ (CU Pharmacy Enterprise) หรือ CUPE กล่าวว่า “ปัจจุบันทางคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ได้บ่มเพาะเภสัชกรเข้าสู่ระบบประมาณ 150 คนต่อปี ตอบโจทย์ทั้งในด้านอุตสาหกรรมนวัตกรรมยา ด้านการดูแลสุขภาพและการใช้ยาประชาชนรวมทั้งผู้ป่วย และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หากมองในแง่กรอบอัตรากำลังภาครัฐที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน และกำลังการผลิตของภาคการศึกษาซึ่งแต่ละปีมีอัตรากำลังเภสัชกรจบใหม่ทั่วทั้งประเทศราว 1,700 คนเข้าสู่ตลาด ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ขาดแคลน แต่หากพิจารณาจากความต้องการที่ควรจะเป็นโดยทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจำเป็นต้องมีเภสัชกรดูแลการใช้ยาให้แก่ผู้ป่วยอย่างทั่วถึงและเพียงพอ จะพบว่าภาครัฐยังต้องการเภสัชกรเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบันอีกเท่าตัว เนื่องจากบทบาทของเภสัชกรในปัจจุบันพัฒนาไปมาก และช่วยดูแลการใช้ยา ช่วยให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยและลดปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงจ่ายยาในโรงพยาบาล หรือร้านยา เภสัชกรในปัจจุบันนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลประชาชนได้ในรูปแบบการทำงานเชิงรุก ในบทบาทเภสัชกรครอบครัว หรือ Family Pharmacist ที่เภสัชกรจะทำหน้าที่เป็นเสมือนที่ปรึกษาการใช้ยาประจำตัว ครอบครัว หรือชุมชน หนึ่งในกิจกรรมคือการเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามดูแลการใช้ยาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่สร้างความใกล้ชิด ช่วยป้องกันและแก้ปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม และเป็นที่พึ่งและที่ปรึกษาให้กับประชาชนในเรื่องการใช้ยา ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญในอนาคต และเมื่อวันนั้นมาถึง แน่นอนว่าเภสัชกรที่มีอยู่ทั่วประเทศย่อมไม่เพียงพอ แต่หากเรามีดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่ทำให้เภสัชกรได้พบปะกับผู้ป่วย ครอบครัวหรือชุมชนได้ง่ายขึ้น จะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดของการเยี่ยมบ้าน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและบรรเทาปัญหาขาดแคลนบุคลากรลงได้ ขณะเดียวเพิ่มการเข้าถึงบริการทางเภสัชกรรมได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง”
PROLAB ธุรกิจตรวจแล็บ ในยุคที่อะไรๆก็เดลิเวอรี่
หากจะพูดถึงธุรกิจบริการตรวจวิเคราะห์ ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ PROLAB หรือ บริษัท โปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ แมเนจเม้นท์ คอร์ป จำกัด ก็ถือได้ว่าเป็นบิ๊กเนมในแวดวงนี้ ด้วยชื่อเสียงยาวนานมากกว่า 20 ปี และถือได้ว่าเนื้อหอมเป็นพิเศษในช่วงที่เราต้องงัดข้อกับโรคระบาด
นางนิตยา โฉมงาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PROLAB กล่าวว่า “ช่วงโควิด-19 ถือได้ว่าเป็นช่วงที่เรางานหนัก เพราะมีความต้องการใช้บริการการตรวจทางห้องปฏิบัติการจำนวนมาก และเราได้ริเริ่มการบริการแบบเดลิเวอรี่ มีการเข้าไปเก็บตัวอย่างถึงที่บ้าน ขนส่งด้วยแมสเซ็นเจอร์ภายใต้การควบคุมมายังแล็บ ที่ผ่านมาเราให้บริการในเขตกรุงเทพและปริมณฑล โดยอาศัยการติดต่อทางโทรศัพท์เป็นหลัก แต่เราเชื่อว่าการให้บริการตรวจแล็บแบบเดลิเวอรี่จะมีประสิทธิภาพขึ้นมาก หากมีแพลตฟอร์มเชื่อมต่อระหว่างห้องปฏิบัติการ กับบุคลากรทางการรักษา ซึ่งการตรวจแต่ละอย่างจะได้มีความเฉพาะเจาะจงต่อการรักษามากขึ้น หรือมีการตรวจตามข้อสันนิษฐานของแพทย์ ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพจริงๆ โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลหรือแล็บด้วยตนเอง”เป็น
“ที่ผ่านมาเราได้รับการติดต่อความร่วมมือทางธุรกิจจากหลายบริษัทในต่างประเทศ ที่ต้องการหาโลคัลพาร์ทเนอร์ในการสร้างแพลตฟอร์ม ทำให้พบว่าแต้มต่อที่สำคัญในธุรกิจที่เรามีคือความเข้าใจตลาดในประเทศไทยและมีราคาที่ไม่สูงมากหากเทียบกับบริการในต่างประเทศ แต่เราก็ยังไม่เคยเจอแนวคิดใดที่ตรงกับความคาดหวังของเราเหมือนอย่าง Health Companion ที่ต้องการประสานการทำงานของทุกวิชาชีพในสายงาน เพื่อมอบประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยและประชาชน”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของ Health Companion กับความใฝ่ฝันที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น ด้วยการผสานเทคโนโลยีเข้ากับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข อีกหนึ่งสตาร์ทอัพไทยที่มีแนวคิดไม่เหมือนใครและน่าจับตามองที่สุดในวินาทีนี้
Social Links