เผยวิกฤตซ้อนวิกฤตโลก บั่นทอนสุขภาวะพนักงาน ผลสำรวจชี้ผู้เชี่ยวชาญ 80% หมดไฟ ส่งผลกระทบองค์กรอย่างหนัก

เผยวิกฤตซ้อนวิกฤตโลก บั่นทอนสุขภาวะพนักงาน ผลสำรวจชี้ผู้เชี่ยวชาญ 80% หมดไฟ ส่งผลกระทบองค์กรอย่างหนัก

เผยวิกฤตซ้อนวิกฤตโลก บั่นทอนสุขภาวะพนักงาน

ผลสำรวจชี้ผู้เชี่ยวชาญ 80% หมดไฟ

ส่งผลกระทบองค์กรอย่างหนัก

  ภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตทั่วโลกมีแนวโน้มว่า จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2567 เนื่องจากสภาพอากาศสุดขั้วและสถานการณ์ความไม่มั่นคงที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรต่าง ๆ

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟในกลุ่มพนักงานเพิ่มมากขึ้น รายงานภาพรวมแนวโน้มความเสี่ยงทั่วโลก ประจำปี 2567 ของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS Risk Outlook Report 2024) ฉบับล่าสุด ระบุว่า 80% ของผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านความเสี่ยงทั่วโลกที่ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ว่า ภาวะหมดไฟจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจในปี 2567 แต่มีเพียง 41% ของผู้ตอบแบบสำรวจกลุ่มนี้เท่านั้นที่รู้สึกว่า องค์กรของตนพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

รายงานยังได้ให้ภาพรวมโดยละเอียดเกี่ยวกับความเสี่ยงสำคัญบางประการที่องค์กรต่าง ๆ ต้องเผชิญในปี 2567 รวมถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ พลังของปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเปลี่ยนแปลงในเรื่องความคาดหวังของพนักงาน และปัญหาความไม่สงบทั่วโลก

คุณแซลลี ลูเวลลิน (Sally Llewellyn) ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยระดับโลกของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส กล่าวว่า “องค์กรต่าง ๆ จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากมายในปี 2567 เนื่องจากความไม่มั่นคงยังคงเป็นประเด็นสำคัญต่อสภาพแวดล้อมด้านความปลอดภัยทั่วโลก อัตราการเกิดวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยิ่งทำให้การฝ่าฟันปัญหาขององค์กรต่าง ๆ ยากขึ้นไปอีก ทีมงานด้านการบริหารจัดการภาวะวิกฤตซึ่งทำงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงโควิด จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะหมดไฟในการทำหน้าที่ที่สำคัญนี้

การบริหารความเสี่ยงเชิงรุกจะเป็นกุญแจสำคัญ เนื่องจากผู้ตอบแบบสำรวจหลายคนคาดการณ์ว่าความเสี่ยงที่บริษัทต่าง ๆ ต้องเผชิญในปี 2567 จะเพิ่มสูงขึ้น การเป็นพันธมิตรกับองค์กรอื่น ๆ หรือผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้เรามีความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงและผลกระทบในลำดับที่สองหรือสามที่อาจจะต้องเผชิญเมื่อพิจารณาจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ อุตสาหกรรม หรือรูปแบบการเดินทาง การเตือนภัยล่วงหน้าจะช่วยให้องค์กรสามารถวางแผนหรือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ การดูแลให้เกิดความยืดหยุ่นภายในแผนกที่รับผิดชอบด้านการบริหารจัดการภาวะวิกฤตก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน ขณะที่การเพิ่มจำนวนผู้บริหารที่สามารถเข้ามาช่วยดูแลในยามวิกฤต และเสริมศักยภาพให้ผู้บริหารเหล่านี้ด้วยการฝึกอบรมที่เหมาะสม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยรับรองและสร้างความเชื่อมั่นว่า ภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในวงกว้าง”

รายงานภาพรวมแนวโน้มความเสี่ยงทั่วโลก ประจำปี 2567 ของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส: การคาดการณ์ 5 อันดับแรก

หมดแรงหมดใจ – ปัญหาวิกฤตซ้อนวิกฤตบั่นทอนจิตใจ

ในขณะที่ภาวะผันผวนที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิดได้เริ่มบรรเทาเบาบางลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียได้ทำให้ห่วงโซ่อุปทานและบริการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องเผชิญกับภาวะผันผวนและหยุดชะงักลงอีกครั้ง สถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดสะสมอย่างต่อเนื่องเหล่านี้ทำให้พนักงานมีความเสี่ยงที่จะหมดไฟมากยิ่งขึ้น ผลการวิจัยพบว่า องค์กรต่าง ๆ เผชิญกับปัญหาการขาดงานเนื่องจากความเครียดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยผู้ตอบแบบสำรวจเน้นย้ำว่า ระดับความเสี่ยงที่รับรู้ได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้านั้น อยู่ที่ระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดย 65% เชื่อว่าความเสี่ยงทั่วโลกจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นในปี 2567 ส่งผลให้ความเหนื่อยล้าที่เกิดจากการบริหารจัดการวิกฤตเพิ่มสูงกว่าช่วงก่อนที่จะเกิดโรคระบาด

วิกฤตสภาพภูมิอากาศ – เมื่อภาวะโลกร้อนมาเยือน

ในช่วงระยะเวลากว่า 2,000 ปี อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงจากสภาพอากาศนั้นเกี่ยวพันกับธุรกิจทั่วโลกมากเพียงใด องค์กรหนึ่งในสี่เปิดเผยว่า กิจการของตนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และรายงานการแจ้งเตือน (Alerts)จากอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ในปี 2566 ชี้ว่า เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เป็นประเภทของสถานการณ์ที่มีการแจ้งเตือนสูงเป็นอันดับสองของรายงานการแจ้งเตือนจำนวนหลายพันรายงานที่ออกโดยอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส

ในขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่ระบุว่า ตนเองได้พิจารณาและนำปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเข้ามาใส่ไว้ในแผนด้านสุขภาพและความปลอดภัย ซึ่งประเด็นนี้ ชี้ให้เห็นว่า หลายองค์กรมีความเสี่ยงมากเพียงใด และแน่นอนว่า ปัญหานี้จะไม่หมดไป โดยประมาณสามในสี่ของธุรกิจต่าง ๆ เปิดเผยว่า สภาพอากาศสุดขั้วจะเป็นอุปสรรคสำหรับพนักงานและการดำเนินธุรกิจของตนในปี 2567

เมื่อสภาพอากาศและภูมิอากาศในหลายภูมิภาคทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป สภาพแวดล้อมของความเสี่ยงด้านสุขภาพก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน ดร.ไอรีน ไล (Dr Irene Lai) ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ระดับโลกของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส แสดงความเห็นว่า “เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วหลายเหตุการณ์ที่เราได้เผชิญในปี 2566 อาจจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในปี 2567 ซึ่งอาจส่งผลให้พนักงานมีความวิตกกังวลเรื่องสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น เช่น สภาพอากาศที่ร้อนจัดในยุโรปอาจกลายเป็นเรื่องปกติ โดยอาจจะมีคลื่นความร้อนที่ถูกตั้งชื่อมากยิ่งขึ้นหลังจากที่ได้มีการตั้งชื่อคลื่นความร้อนลูกแรกกันไปแล้วในปี 2566 ว่า ‘เซอร์เบอรัส’ (Cerberus)

“เมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรคที่มียุงเป็นพาหะ ซึ่งเราได้เห็นเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วในบางภูมิภาค เช่น การระบาดของโรคมาลาเรียในพื้นที่หลายรัฐของสหรัฐในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา รูปแบบการแพร่เชื้อมาลาเรียที่เปลี่ยนแปลงไปในพื้นที่ราบสูงของแอฟริกาและแนวโน้มของโรคที่เกิดจากพาหะนำโรคในยุโรป ก่อให้เกิดความท้าทายที่สำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ดังนั้นการเตรียมแผนรับมือกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับองค์กรต่าง ๆ”

ภาวะไร้เสถียรภาพทั่วโลกทวีความรุนแรงขึ้น

ผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า ในปี 2566 ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นหัวข้อที่ทำให้เกิดความกังวลด้านความปลอดภัยที่สูงเป็นอันดับสอง  โดยผู้ตอบแบบสำรวจถึงสามในสี่เชื่อว่า องค์กรของตนจะได้รับผลกระทบอย่างมากในปี 2567 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤตการณ์ที่ยังคงเกิดขึ้นในอิสราเอลและฉนวนกาซา รวมถึงความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในยูเครน ส่งผลให้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพทั่วโลก ความไม่สงบและความระส่ำระสายในสังคมควบคู่กับความไม่มั่นคงทางการเมือง ถือเป็นหัวข้อที่สร้างความกังวลอย่างมากในระดับรองลงมาสำหรับองค์กรต่าง ๆ ด้วยรูปแบบที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ของเหตุการณ์เหล่านี้ ธุรกิจต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มแข็ง เพื่อรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

เอไอ – ความเสี่ยงและโอกาส

ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) มีศักยภาพที่น่าทึ่งในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน  เอไอกลับทำให้งานที่มีความสำคัญอย่างการแยกแยะข้อมูลที่เชื่อถือได้ออกจากข้อมูลเท็จและข้อมูลที่จงใจบิดเบือนสำหรับธุรกิจนั้น มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ผู้ตอบแบบสำรวจงานวิจัยภาพรวมแนวโน้มความเสี่ยงระดับโลกมากกว่าสองในห้าระบุว่า รู้สึกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงานของตนจากข้อมูลทางการแพทย์ที่ไม่ถูกต้องและถูกบิดเบือน และตัวเลขผู้ตอบแบบสำรวจเพิ่มขึ้นเป็นสามในห้าเมื่อถูกถามเกี่ยวกับข้อมูลทางการเมืองที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งประเด็นนี้อาจเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างยิ่งในช่วงที่สหรัฐกำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญ

สัญญาจ้างแรงงานรูปแบบใหม่

สามในสี่ขององค์กรที่ตอบรับการสำรวจเปิดเผยว่า พนักงานมีความคาดหวังมากขึ้นว่าจะได้รับการดูแลจากบริษัท (Duty of Care) ตัวเลขดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงองค์กรที่ปัจจุบันแบกรับหน้าที่ที่เคยถูกมองว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล เช่น สองในสามขององค์กรที่ระบุว่า องค์กรได้ขยายขอบเขตสวัสดิการพนักงานให้ครอบคลุมการสนับสนุนครอบครัวของพนักงานในยามจำเป็นด้วยเช่นกัน นับเป็นการตอกย้ำว่า ยุคสมัยแห่งการให้บริการด้านอาชีวอนามัยขั้นพื้นฐานสำหรับพนักงานเพียงอย่างเดียวนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว แม้ว่าบริการด้านอาชีวอนามัยสำหรับพนักงานจะยังคงมีความสำคัญ แต่จำเป็นต้องถูกยกระดับด้วยมาตรการช่วยเหลือและการสนับสนุนที่หลากหลาย เพื่อปกป้องดูแลพนักงานทั่วโลก

You may also like

“มนพร”สุดปลื้ม! สนามบินแม่ฮ่องสอน-เลย-น่านนคร คว้ารางวัล”EIA Monitoring Awards 2024″

“มนพร”สุ