เมื่อพิราบเปลี่ยนเป็นเหยี่ยว
ผมเขียนบทความทิ้งไว้ก่อนสงกรานต์ว่าราคาน้ำมันดิบสูงสุดของปีนี้น่าจะอยู่ที่ 71 $/บาร์เรล ปรากฏว่าหน้าแตกหมอไม่รับเย็บ เมื่อประธานาธิบดี Trump แผลงฤทธิ์ยิงขีปนาวุธถล่มซีเรีย ทำให้ราคาน้ำมันดิบ Brent พุ่งขึ้นทะลุ 75 $/บาร์เรล แต่หลังจากนั้นก็ปรับตัวลดลงเพราะสถานการณ์ไม่ได้บานปลายกลายเป็นสงครามโลกอย่างที่หวาดวิตกกัน
ล่าสุดมีนักวิเคราะห์หลายสำนักให้ความเห็นว่าราคาน้ำมันดิบรอบนี้อาจขึ้นไปได้ถึง 80 $/บาร์เรล แต่ที่น่าแปลกใจคือท่าทีของซาอุดิอาระเบีย ที่เคยเป็นประเทศสมาชิกสายกลางในกลุ่มโอเปกมานับเป็นสิบๆปี และคอยยับยั้งประเทศหัวรุนแรงอย่างอิหร่านและเวเนซูเอล่า ที่ต้องการผลักดันราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด กลับพลิกบทมาเล่นเป็นสายเหยี่ยวเสียเองในตอนนี้
ท่าทีที่เปลี่ยนไปของซาอุดิอาระเบียก็คือ ถึงแม้ว่าข้อตกลงลดการผลิตที่กลุ่มโอเปกทำไว้กับประเทศนอกกลุ่มโอเปกที่นำโดยรัสเซีย จะส่งผลให้สต๊อคน้ำมันส่วนเกินของโลก (กลุ่ม OECD) ลดลงสู่ระดับเกือบเป็นปกติ (ห้าปีเฉลี่ย) และราคาก็ขึ้นไปสูงกว่า 60 $/บาร์เรล ซึ่งเป็นราคาตามเป้าหมายของกลุ่มฯแล้วก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนว่าซาอุดิอาระเบียจะยังไม่พอใจเพียงแค่นั้น
โดยบทบาทของซาอุดิอาระเบียที่ต้องการผลักดันราคาน้ำมันให้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 60 $/บาร์เรล มีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อรมต.พลังงานของซาอุดิอาระเบียออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆนี้ว่า ถึงแม้จะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันบ้างเล็กน้อย (small shortage) การลดการผลิตก็ต้องดำเนินต่อไป
เบื้องหลังคำพูดดังกล่าวน่าจะมาจากแรงกดดันของมกุฎราชกุมารของซาอุดิอาระเบีย โมฮัมหมัด บิน ซาลมาน ที่ต้องการปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้แผนการ “Vision 2030” และการนำหุ้นของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ Saudi Aramco เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะนับเป็นการเสนอขายหุ้น (IPO) ที่ทำสถิติมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการ
ภายใต้ “วิสัยทัศน์ 2030” รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆขึ้นมาเพื่อสร้างรายได้ด้านอื่นๆให้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันที่เป็นรายได้หลักของประเทศมาโดยตลอด
นอกจากนั้นรัฐบาลยังมีค่าใช้จ่ายทางสังคมที่ต้องปฏิรูปให้เหมาะสมกับรายได้ของประเทศที่เปลี่ยนไป โดยก่อนหน้านี้ได้มีการตัดลดค่าใช้จ่ายด้านเงินอุดหนุนสวัสดิการสังคมต่างๆ
ตลอดจนมีการขึ้นราคาน้ำมันในประเทศ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำ จนนำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชน และรัฐบาลต้องผ่อนคลายด้วยการให้เงินอุดหนุนบางประเภทให้กับประชาชนเพื่อลดความตึงเครียดทางสังคม
ดังนั้น เพื่อให้บรรลุ “วิสัยทัศน์ 2030” และเป็นผลดีต่อการเสนอขายหุ้นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ Saudi Aramco ที่รัฐบาลอ้างว่ามีมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (62 ล้านล้านบาท) เป้าหมายใหม่ของราคาน้ำมันจึงถูกขยับขึ้นเป็น 70 $/บาร์เรล
นอกจากนั้นซาอุดิอาระเบียยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการทำสงครามตัวแทนในเยเมน ซึ่งนับวันมีแต่จะทวีมากขึ้น ดังนั้นนักวิเคราะห์หลายรายจึงมีความเห็นว่า ราคาน้ำมันที่ 70 $/บาร์เรล น่าจะไม่ใช่เป้าหมายของซาอุดิอาระเบียไปเสียแล้ว แต่อาจจะมองไกลไปถึง 80 หรือ 100 $/บาร์เรล ก็เป็นได้ ถ้าปัจจัยเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ในภูมิภาคนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงอยู่
บทบาทของซาอุดีอาระเบียในขณะนี้แตกต่างจากบทบาทในช่วงทศวรรษ 1970 ที่รมต.น้ำมันของซาอุฯเล่นบทพิราบในกลุ่มโอเปก คอยเตือนสมาชิกในกลุ่มว่าราคาน้ำมันที่สูงเกินไปจะส่งผลสะท้อนกลับในทางลบต่อกลุ่มโอเปก
โดยในปี 2008 ที่ราคาน้ำมันขึ้นไปเกือบ 150 $/บาร์เรล ความพยายามของรมต.น้ำมันของซาอุฯที่จะลดความร้อนแรงของราคายังเผชิญกับการคัดค้านจากสมาชิกสายเหยี่ยวในกลุ่ม
แต่ในปีนี้เมื่อราคาน้ำมันขึ้นไปที่ 70 $/บาร์เรล ประเทศที่ออกมาบอกว่าราคาน้ำมันสูงไป ควรอยู่ที่ 60 $/บาร์เรล กลับกลายเป็นอิหร่านที่เคยเป็นสายเหยี่ยวในกลุ่มโอเปกมาก่อน
โลกช่างกลับตาลปัตรเสียนี่กระไร !!!
มนูญ ศิริวรรณ
25 เม.ย. 2561
จากคอลัมน์ “พลังงานรอบทิศ” ในนสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 26 เม.ย. 2561
Social Links