เมื่อสงครามรัสเซีย –ยูเครน ถล่มอุตสาหกรรม“ปลาและมันฝรั่งทอด”ของอังกฤษ
ผศ.ดร.กฤษฎา พรหมเวค
คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนในปัจจุบันไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเท่านั้น สงครามครั้งนี้ยังส่งผลกระทบลามไปยังอุตสาหกรรม “ปลาและมันฝรั่งทอด” หรือ “ฟิชแอนด์ชิปส์” ของประเทศสหราชอาณาจักรด้วย
“ฟิชแอนด์ชิปส์” (Fish 'n' Chips) ไม่เพียงเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่มีชื่อเสียงที่สุดของสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก “ฟิชแอนด์ชิปส์” ยังเป็นวัฒนธรรมและเป็นอาหารที่คนอังกฤษชื่นชอบอีกด้วย และได้กลายมาเป็นอาหารจานด่วนแบบดั้งเดิมของชาวอังกฤษ นอกจากนั้น “ฟิชแอนด์ชิปส์” ยังมีความสำคัญทางด้านการทหารและประวัติศาสตร์เพราะมีส่วนช่วยให้อังกฤษสามารถผ่านพ้นสงครามโลกทั้งสองครั้งไปได้โดยสวัสดิภาพ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 “ฟิชแอนด์ชิปส์” ทำให้รัฐบาลแน่ใจว่าเสบียงอาหารของชาวอังกฤษไม่เคยหมดเป็นเครื่องมือในการรักษาขวัญกำลังใจของคนในชาติ และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นส่วนผสมของ“ฟิชแอนด์ชิปส์” เป็นหนึ่งในไม่กี่อย่างเท่านั้นที่ไม่ต้องรับการปันส่วน
หลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า “ปลาทอด” นั้นถูกนำเข้ามาในสหราชอาณาจักรครั้งแรกโดยผู้อพยพชาวยิวในศตวรรษที่ 17 และกลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่า “มันฝรั่งทอด” นั้นปรากฏขึ้นในสหราชอาณาจักรในเวลาไล่เลี่ยกัน สืบค้นได้จากวรรณกรรมเยาวชนเลื่องชื่อเรื่อง Oliver Twist หรือ โอลิเวอร์ ทวิสต์ หนุ่มน้อยหัวใจทระนง ของ Charles Dickens ที่อ้างถึง "โกดังปลาทอด" ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1839 และ "มันฝรั่งทอดกรอบ" ในนวนิยายเรื่อง A Tale of Two Cities หรือ “นิยายแห่งสองนคร” ในปี ค.ศ. 1859 แม้ว่าจะมีการถกเถียงกันอยู่บ้าง แต่พบว่าร้าน “ฟิชแอนด์ชิปส์” ที่ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการแห่งแรกในสหราชอาณาจักรนั้น ก่อตั้งขึ้น ในปี ค.ศ. 1860 ในตลาด Tommy field Market ในเขต Oldham หรือเป็นระยะมากกว่า 160 ปี ล่วงมาแล้ว
ไม่มีใครแน่ใจว่าปลาทอดและมันฝรั่งทอดถูกนำมาขายร่วมกันครั้งแรกที่ไหน แต่พบว่า ร้าน “ฟิชแอนด์ชิปส์” แห่งแรกเปิดกิจการในปี ค.ศ. 1860 โดยโจเซฟ มาลิน ผู้อพยพชาวยิวในลอนดอนตะวันออก หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1863 จอห์น ลีส์ ได้เปิดร้านชื่อ“กระท่อมปลาและมันฝรั่ง” ที่ตลาดมอสลีย์ในมณฑลแลงคาเชียร์ แนวคิดนี้เริ่มต้นอย่างรวดเร็วและเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากจนทำให้ร้าน “ฟิชแอนด์ชิปส์” ผุดขึ้นทั่วประเทศ จากการประเมินของสหพันธ์ปลาทอดแห่งชาติ (National Federation of Fish Friers) พบว่า ในปี ค.ศ. 1910 สหราชอาณาจักรมีร้าน“ฟิชแอนด์ชิปส์” ประมาณ 25,000 แห่ง การแพร่กระจายของร้าน“ฟิชแอนด์ชิปส์” ส่งผลต่อการพัฒนาการของประมงอวนลากและทางรถไฟในประเทศสหราชอาณาจักร จากอุปสงค์ความต้องการปลาในตลาดทำให้สามารถขนส่งปลาไปทั่วประเทศในขณะที่ยังสดใหม่อีกด้วย พบว่าทุกเมืองในอังกฤษมีร้าน“ฟิชแอนด์ชิปส์” ท้องถิ่นเป็นของตัวเอง
เนื่องจากปลาเป็นวัตถุดิบที่ราคาถูกและหาได้ง่ายเนื่องจากทุกเมืองของอังกฤษจะตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือมาก ระยะห่างจากท่าเรือไม่เกิน 150 กม. และเมื่อทางรถไฟถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่สิบเก้าทำให้การขนส่งปลาทะเลสดสามารถหาทำได้ง่ายและสามารถหาซื้อได้ในทุกเมืองของอังกฤษ โดยปลาทะเลนั้นมีราคาของถูกกว่าเนื้อสัตว์และเป็นแหล่งโปรตีนยอดนิยมของชาวอังกฤษ ในปี พ.ศ. 1870 "ร้านขายปลาและมันฝรั่งทอด" ได้ผุดขึ้นและเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศ จนถึงปัจจุบันคิดเป็นเวลากว่าร้อยห้าสิบปีแล้วที่ “ฟิชแอนด์ชิปส์” ได้กลายเป็นร้านอาหารคลาสสิกยอดนิยมสไตล์อังกฤษ
“ฟิชแอนด์ชิปส์” ส่วนใหญ่มักทำจากปลาที่มีเนื้อสีขาว ส่วนใหญ่มักเป็นปลาคอด (cod) หรือ ปลาแฮดด็อก (haddock) ซึ่ง มีที่มาจากทะเลแบเรนท์ส ทางตอนเหนือของนอร์เวย์และรัสเซีย อย่างไรก็ตามบางร้านอาจเลือกใช้ปลาเนื้อขาวชนิดอื่น เช่น ปลาร็อค (rock) ปลาเพลซ (plaice) หรือพอลล็อค (pollock) ซึ่งมีจำนวนมาก โดยเนื้อปลาจะถูกนำมาเคลือบด้วยแป้งทอดกรอบที่ถูกนำมาละลายน้ำหรือเบียร์ จากนั้นก็นำไปทอดในน้ำมัน ทานกับเครื่องเคียงที่เป็นมันฝรั่งทอดที่หั่นเป็นชิ้นหนาแทนที่จะเป็นเฟรนช์ฟรายส์แบบบาง โดยโรยเกลือและน้ำส้มสายชูบนมันฝรั่งทอดและแซมด้วยถั่วลันเตาหรือหัวหอมดองที่ด้านข้างหรือเศษแป้งทอดกรุบกรอบก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน ในภาคเหนือมักจะทานคู่กับซอสแกงกะหรี่ บางร้านมักเสิร์ฟคู่กับซอสทาร์ทาร์ก็ได้ แม้ว่า “ฟิชแอนด์ชิปส์” จะไม่ใช่อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุด แต่รับรองว่า “ฟิชแอนด์ชิปส์” ของอังกฤษนั้นมีรสชาติดีแน่นอน
ในอดีต “ฟิชแอนด์ชิปส์” เป็นอาหารที่มีราคาถูกและเป็นอาหารหลักของชนชั้นแรงงานในสหราชอาณาจักรมานานกว่าศตวรรษ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับสำนวนอังกฤษ ว่า "ถูกพอๆ กับมันฝรั่งทอด" หรือ “cheap as chips” ซึ่งผู้ขาย “ฟิชแอนด์ชิปส์” เล่าให้ฟังว่า“มีอยู่ช่วงหนึ่งปลาเป็นหนึ่งในอาหารที่มีราคาถูกที่สุด ทำให้ “ ฟิชแอนด์ชิปส์ “เคยเป็นอาหารราคาถูก แต่ตอนนี้”เป็นหนึ่งในสิ่งที่แพงที่สุด และกลายเป็นของฟุ่มเฟือย ลูกค้าจำนวนมากเข้ามาในร้าน “ฟิชแอนด์ชิปส์” และรีบออกไปทันทีหลังจากเห็นราคาขาย”
การคว่ำบาตรรัสเซียอาจส่งผลทำให้อังกฤษไม่มี “ฟิชแอนด์ชิปส์” จำหน่าย โดยสื่อท้องถิ่นในประเทศอังกฤษรายงานว่า การคว่ำบาตรของรัสเซียเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารในยูเครนอาจทำให้ร้านค้า “ฟิชแอนด์ชิปส์” ประมาณ 5,000 แห่งจาก 10,500 แห่งในสหราชอาณาจักรอาจถูกบังคับให้ปิดตัวลง เนื่องจากราคาส่วนผสมและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น สงครามในยูเครนทำให้วัตถุดิบหลักทั้งสี่อย่างในการผลิต “ฟิชแอนด์ชิปส์” ได้แก่ ”ปลา น้ำมัน แป้ง และมันฝรั่ง” หายากขึ้น ราคาน้ำมันและไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการจับปลาและทอดปลาเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ปลามีราคาแพงขึ้น เรือลากอวนของอังกฤษบางส่วนยังอยู่ในท่าเรือเนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงสูง“มันไม่คุ้มที่พวกเขาจะออกเรือ นอกจากนี้การที่ยูเครนและรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ ซึ่งใช้ในร้าน “ฟิชแอนด์ชิปส์” หลายแห่งซึ่งกำลังจะหมดลง รวมถึงมันฝรั่งก็ถูกกำหนดให้มีราคาแพงขึ้นเนื่องจากราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ต้นทุนปุ๋ยสูงขึ้น พบว่าในเวลาเพียงปีเดียวราคาปลาค็อดและปลาแฮดด็อกในสหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้น 75% น้ำมันดอกทานตะวันขึ้น 60% และแป้งขึ้น 40% และพบว่าสถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก หลังจากที่ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2022 รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจให้ปลาเนื้อขาวจากรัสเซียเป็นหนึ่งในสินค้าที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น 35% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการคว่ำบาตรเพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครน โดยรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปลาทะเลชั้นนำของโลกโดยเฉพาะ “ปลาคอด” พบว่าปลาเนื้อขาวประมาณหนึ่งในสามที่บริโภคกันในสหราชอาณาจักรนั้น ถูกนำเข้ามาจากรัสเซีย สงครามทำให้ปลาและส่วนผสมสำคัญอื่นๆ ที่ใช้ในร้านมันฝรั่งทอดของสหราชอาณาจักรนั้นมีราคาแพงขึ้นมาก
ในขณะเดียวกันภาษีมูลค่าเพิ่มในการขายสินค้า (VAT) ที่ในช่วงการระบาดใหญ่ทางการได้ ลดลงเหลือ 12.5% จะกลับไปเป็นอัตรา 20% ตามเดิม คาดว่าสาเหตุดังกล่าวจะทำให้ราคาขาย “ฟิชแอนด์ชิปส์” ของอังกฤษสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ ร้านค้า “ฟิชแอนด์ชิปส์” อาจต้องเปลี่ยนกลยุทธ์จากการใช้ปลาค็อดและปลาแฮดด็อกแบบดั้งเดิมเป็นปลาเฮกและปลาชนิดอื่นๆ ที่มีราคาถูกกว่า ก่อนเกิดวิกฤตในยูเครนนายแอนดรูว์ ครุก ประธานสหพันธ์ปลาทอดแห่งชาติ คาดการณ์ว่าร้านปลาและมันฝรั่งมากกว่าหนึ่งในสามของสหราชอาณาจักรจะเลิกกิจการภายใน 12 เดือน แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันจำนวนร้าน “ฟิชแอนด์ชิปส์” ที่จะเลิกกิจการน่าจะมีจำนวนมากกว่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนระดับล่างของอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Social Links