เศรษฐกิจจีนจุกอก! โตต่ำสุดในรอบ 29 ปี
เศรษฐกิจจีนไตรมาส 4/2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 (YoY) โดยการส่งออกจีนพลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 (YoY) ในไตรมาส 4/2562 และขยายตัวถึงร้อยละ 7.6 (YoY) ในเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งถูกผลักดันจากปัจจัยชั่วคราวและฐานที่ต่ำเป็นหลัก ท่ามกลางข่าวดีเรื่องข้อตกลงทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งส่งให้มีการเร่งส่งออกในไตรมาส 4/2562 ขณะที่ภาคการผลิตก็ขยายตัวสอดคล้องกับภาคการส่งออก โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการผลิตจีนทั้งของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนและ Caixin ต่างบ่งชี้ทิศทางขยายตัวในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2562
ดัชนี PMI ภาคการผลิตจีนของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ในเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 50.2 ขณะที่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตจีนของ Caixin ในเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 51.5 ซึ่งตัวเลขที่สูงกว่า 50 บ่งบอกถึงทิศทางขยายตัวของภาคการผลิตจีน อีกทั้ง ดัชนี PMI ของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ (New Export Order) จากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน พลิกกลับมาอยู่ในทิศทางขยายตัวในเดือนธันวาคม 2562 หลังจากอยู่ในทิศทางหดตัวติดต่อกันถึง 18 เดือน นอกจากนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial production) ของจีนก็เติบโตในอัตราที่สูงขึ้นที่เฉลี่ยร้อยละ 5.9 (YoY) ในไตรมาส 4/2562 เพิ่มขึ้นจากอัตราเฉลี่ยที่ร้อยละ 5.0 (YoY) ในไตรมาส 3/2562
อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจจีนโดยรวมในปี 2562 นั้นชะลอลงจากปี 2561 ค่อนข้างมาก โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 6.1 ลดลงอย่างมากจากร้อยละ 6.6 ในปี 2561 ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในไตรมาส 4/2562 ถูกผลักดันจากปัจจัยชั่วคราวและฐานที่ต่ำเป็นหลัก ทั้งนี้ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ช่วยประคองเศรษฐกิจจีนในปี 2562 ได้ในระดับหนึ่ง ท่ามกลางเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีความเปราะบาง
เศรษฐกิจจีนไม่ได้เผชิญปัจจัยฉุดรั้งจากภายนอกเท่านั้น แต่เศรษฐกิจภายในประเทศก็มีความเปราะบางค่อนข้างสูง โดยการบริโภคและการลงทุนในประเทศในปี 2562 แม้ว่ายังขยายตัวได้ แต่ก็เติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าปีก่อนหน้า
โดยในปี 2562 ยอดการค้าปลีกเติบโตร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับร้อยละ 8.9 ในปีก่อนหน้า ขณะที่ยอดขายรถยนต์ก็หดตัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2562 (อย่างไรก็ดี ยอดขายรถยนต์มีสัญญาณหดตัวในอัตราที่ชะลอลงในไตรมาส 4/2562) นอกจากนี้ การลงทุน (Fixed Asset Investment) ก็เติบโตร้อยละ 5.4 ในปี 2562 เมื่อเทียบร้อยละ 5.9 ในปีก่อนหน้า ส่งผลให้ทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในปี 2562 ทั้งนโยบายทางการคลังและนโยบายทางการเงิน โดยทางการจีนมีการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐผ่านทางการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อีกทั้งมีการปรับลดภาษีต่างๆ ที่คาดว่ามีมูลค่าสูงถึง 2.36 ล้านล้านหยวน (3.41 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ส่งผลให้การขาดดุลภาครัฐในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ขณะที่ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี โดยอัตราดอกเบี้ย Loan Prime Rate (LPR) ของจีนปรับลดถึง 2 ครั้งจากร้อยละ 4.25 ในเดือนสิงหาคม 2562 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.15 ในเดือนธันวาคม 2562 นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังมีการอัดฉีดเม็ดเงิน รวมถึงมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Medium-Term Lending Facility ( MLF) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบ อย่างไรก็ดี สินเชื่อใหม่ (New Yuan Loans) ในปี 2562 เพิ่มสูงขึ้นเพียงร้อยละ 4.0 จากปีก่อนหน้า แม้ว่าจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 16.82 ล้านล้านหยวนในปี 2562 ซึ่งแสดงให้เห็นว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้อาจมีประสิทธิผลไม่มากเท่าที่ควร ส่งผลให้ช่วยประคองเศรษฐกิจจีนในปี 2562 ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น
ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 4/2562 จะบ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนยังคงมีโมเมนตัมที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลักจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนแรงลง เนื่องจากปัจจัยด้านสงครามการค้าที่เริ่มส่งผลกระทบในวงกว้าง ท่ามกลางความเปราะบางของภาคการเงินที่มีมากขึ้น ดังนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจจีนปี 2563 ยังคงจะไม่สดใส และน่าจะทรุดตัวลงจากปี 2562 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2563 จะเติบโตที่ร้อยละ 5.7 (กรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.5-5.9) โดยประเด็นเรื่องสงครามการค้ายังคงมีน้ำหนักอย่างมากที่จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งหากสหรัฐฯ มีการปรับภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มเติม การส่งออกจีนอาจจะทรุดตัวลงอีก และส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอาจเข้าใกล้กรอบคาดการณ์ล่างที่ร้อยละ 5.5 ทั้งนี้ การที่จีนยังใช้ระบบเศรษฐกิจแบบจัดการ (Managed Economy) ดังนั้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลง ทางการจีนอาจผสมผสานการใช้นโยบายทางการเงินและการคลังที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงนโยบายรูปแบบใหม่ที่ตลาดไม่คาดคิด อันจะนำมาซึ่งความเสี่ยงเชิงนโยบายที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจซึ่งคาดการณ์ได้ยาก
ทั้งนี้ แม้ว่าสหรัฐฯ และจีนจะลงนามข้อตกลงการค้า Phase 1 แล้ว แต่ทั้งจีนและสหรัฐฯ ยังคงเผชิญกับอัตราภาษีนำเข้าในระดับที่สูง ขณะที่ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงมีความไม่แน่นอนสูง และน่าจะไม่จบในระยะอันใกล้ โดยยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่าทางการจีนจะสามารถทำตามข้อตกลงและมีผลสัมฤทธิ์ทางการปฏิบัติหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ให้มีมูลค่าสูงกว่าในปี 2560 อีก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายอย่างมาก สำหรับประเด็นอื่นๆ เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทางการจีนจะมีข้อบังคับใช้อย่างไร เพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ น่าจะใช้ประเด็นเรื่องการปฏิบัติตามข้อตกลงของจีนเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สามารถใช้เพื่อเพิ่มคะแนนนิยมของตนเมื่อจำเป็นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยหากคะแนนนิยมของทรัมป์ไม่ดีนัก ทรัมป์อาจเพิ่มแรงกดดันให้จีนทำตามข้อตกลงมากขึ้น เพื่อให้มีผลงานก่อนการเลือกตั้ง ส่งผลให้สงครามการค้าอาจมีความตึงเครียดขึ้น ซึ่งส่งผลให้การส่งออกจีนยังคงเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การค้าโลกในปี 2563 ก็มีแนวโน้มที่ยังคงไม่สดใสเท่าใดนัก ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นทั้งจากปัจจัยด้านสงครามการค้า รวมถึงปัจจัยด้านภูมิศาสตร์การเมือง (Geopolitics) ที่อาจปะทุความรุนแรงเมื่อใดก็ได้
นอกจากนี้ เศรษฐกิจภายในประเทศจีนยังคงมีความเปราะบางสูงและมีแนวโน้มชะลอลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่ประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อาจมีจำกัด ท่ามกลางระดับหนี้ของจีนที่อยู่ในระดับสูง ระดับหนี้ของจีนเพิ่มสูงขึ้นและแตะระดับสูงสุดที่ราวร้อยละ 310 ของ GDP ในไตรมาส 3/2562 ทั้งนี้ หนี้ของภาคธุรกิจของจีนอยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 150 ของ GDP ซึ่งนอกจากระดับหนี้ของภาคธุรกิจจีนที่อยู่ในระดับสูงจนน่าวิตกแล้วนั้น การผิดชำระหนี้พันธบัตรของจีนในปี 2562 นั้นก็สูงเป็นประวัติการณ์ และกระจายอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรมของจีน ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบในภาคการเงินของจีนอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น หนี้ครัวเรือนของจีนก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเปราะบางมากขึ้นในภาคการเงินของจีน ทั้งนี้ ท่ามกลางความเสี่ยงในภาคการเงินจีนและเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ทางการจีนอาจเผชิญกับสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ซึ่งส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินแบบขยายตัวอาจทำได้จำกัดมากขึ้น และมีประสิทธิผลไม่มากนัก ขณะที่ขนาดของมาตรการกระตุ้นทางการคลังเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ ในปี 2563 อาจน้อยลง ซึ่งส่งผลให้ไม่มีแรงผลักดันทางเศรษฐกิจมากเท่าใดนัก ดังนั้น เศรษฐกิจจีนจึงมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ทรุดตัวลงในปีนี้
Social Links