เศรษฐกิจไตรมาสแรกฉิว คาดอีก 9 เดือนสุดท้ายสดใส

เศรษฐกิจไตรมาสแรกฉิว คาดอีก 9 เดือนสุดท้ายสดใส

  

เศรษฐกิจไตรมาสแรกฉิว คาดอีก 9 เดือนสุดท้ายสดใส

            การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังช่วยให้การส่งออกและท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัวดี แต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นรวมถึงนำเข้าที่เร่งตัว ฉุดให้การขยายตัวของการส่งออกสุทธิติดลบ การเติบโตของการส่งออกสินค้าและรายได้จากการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 1/61 ที่ขยายตัวในระดับสูงยังเป็นแรงส่งการขยายตัวของ GDP หากแต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากในช่วงต้นปี 2561 ทำให้การขยายตัวของการส่งออกสินค้าเมื่อคำนวณกลับมาเป็นเงินบาทเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับการนำเข้าสินค้าที่เร่งตัวขึ้นส่งผลให้การส่งออกสุทธิในไตรมาส 1/2561 ขยายตัวติดลบ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตได้ในระดับสูงต่อเนื่องทั้งปีนี้ ประกอบกับค่าเงินบาทที่เริ่มกลับมาอ่อนค่าตั้งแต่ในช่วงเดือนเม.ย. 2561 น่าจะช่วยทำให้การส่งออกสินค้าในช่วงที่เหลือของปีเมื่อคิดเป็นเงินบาทกลับมาหนุนการเติบโตของ GDP ได้ในไตรมาสต่อๆ ไป

                สัญญาณการใช้จ่ายครัวเรือนดีขึ้น โดยการใช้จ่ายสินค้าคงทนยังเป็นตัวหนุนหลักของการใช้จ่ายครัวเรือน สอดคล้องไปกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 12.1(YoY) อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าไม่คงทนเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากการเติบโตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายเสื้อผ้า อาหาร และของใช้ส่วนบุคคล ซึ่งในช่วงที่เหลือของปี 2561 นี้ ภาพการใช้จ่ายครัวเรือนยังคงได้รับแรงหนุนจากการซื้อรถยนต์ ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่นๆ จะทยอยปรับตัวดีขึ้น

                ผลผลิตภาคเกษตรเร่งตัวตามสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ซึ่งบางส่วนไปหนุนการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง ผลผลิตภาคเกษตรไตรมาส 1/2561 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูกทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือก ปาล์ม ยางพารา และผลไม้ปรับตัวเพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกันผลผลิตสินค้าเกษตรบางส่วน เช่น ยางพารา เข้าไปหนุนให้สินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น นอกเหนือไปจากสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยานยนต์ และทองคำ ซึ่งมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2561 ให้อยู่ในระดับสูง

                การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2561 น่าจะเป็นระดับที่สูงที่สุดของปี 2561ในขณะที่การขยายตัวของ GDP ในช่วงที่เหลือของปีน่าจะยังคงรักษาระดับการเติบโตที่สูงกว่าร้อยละ 4.0 ต่อปี ในแต่ละไตรมาสไว้ได้ โดยตัวขับเคลื่อนหลักยังคงมาจากการส่งออกและรายได้จากการท่องเที่ยวที่ได้อานิสงส์จากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจหลักของโลก ในขณะที่การใช้จ่ายในประเทศทั้งการใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนจะทยอยปรับตัวดีขึ้น จากบรรยากาศการลงทุนที่ดี ทั้งจากการเร่งกระบวนการก่อสร้างของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ตลอดจนการบังคับใช้ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศ ดังนี้

                ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่แม้ว่าจะมีความคืบหน้าที่ดีในการเจรจาหาทางยุติการตอบโต้ทางการค้า แต่ยังคงมีรายละเอียดในรายการสินค้า และข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ต่อจีนที่จะต้องผ่านกระบวนการเจรจา ซึ่งความไม่แน่นอนก็ยังคงปรากฎอยู่ระหว่างทางจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

                ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นและสภาพคล่องทางการเงินของโลกที่เริ่มตึงตัวมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินในประเทศให้ปรับตัวตาม แม้ว่าทิศทางดอกเบี้ยนโยบายยังคงไม่เปลี่ยนแปลง รวมถึงทิศทางค่าเงินบาทที่แม้จะมีทิศทางอ่อนค่า แต่ความผันผวนยังคงเกิดขึ้นจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศที่อาจจะส่งผลต่อดัชนีค่าเงินดอลลาร์ฯ ให้ผันผวนอ่อนค่า

                ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จากประเด็นที่สหรัฐฯ กลับมาคว่ำบาตรอิหร่านซึ่งมีความกังวลว่าจะกระทบปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านและกดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปี (จนถึง 21 พ.ค. 2561) อยู่ที่ 66.6 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล และคาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงที่เหลือของปีน่าจะแกว่งตัวในช่วง 65-75 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งน่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2561 สูงกว่าระดับ 55 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองไว้เมื่อต้นปี 2561 ทั้งนี้ แรงกดดันราคาพลังงานที่สูงขึ้นอาจจะส่งผลต่อกำลังซื้อของครัวเรือนในช่วงที่เหลือของปี

                ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่จะขยายตัวเข้าใกล้กรอบบนของประมาณการเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3.5-4.5 (ค่ากลางที่ร้อยละ 4.0) จากองค์ประกอบทางเศรษฐกิจทั้งภาคต่างประเทศ และการใช้จ่ายในประเทศมีทิศทางการเติบโตที่ดี ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศซึ่งน่าจะมีผลจำกัดต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีกำหนดการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนมิถุนายน 2561นี้

 

 

You may also like

“ห่วงใยผู้หญิงไทย ห่างไกลมะเร็งเต้านม” “แอสตร้าเซนเนก้า”ร่วม“ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช” รุกจัดงาน “Rethink Pink We Care” ปีที่ 3

“ห่วงใยผ