แก้รัฐธรรมนูญต้องอยู่ในโลกแห่งความจริง มิใช่โลกตามความเพ้อฝัน??

แก้รัฐธรรมนูญต้องอยู่ในโลกแห่งความจริง มิใช่โลกตามความเพ้อฝัน??

แก้รัฐธรรมนูญต้องอยู่ในโลกแห่งความจริง มิใช่โลกตามความเพ้อฝัน??

นายจักรยาน

          งานใหญ่ระดับชาติ "การประชุมสุดยอดอาเซียน" ครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพก็รูดม่านลงไปด้วยความสงบเรียบร้อยโรงเรียน "ลุงตู่"

          ผู้นำอาเซียนและผู้นำระดับโลกที่มาร่วมประชุมต่างก็ยอวาทีว่าประเทศไทยประสบผลสำเร็จอย่างดีในการจัดประชุม

            แต่ทว่า "ฝ่ายค้าน" ณ ประเทศไทย มองต่างมุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรี ที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้สอบไม่ผ่านได้เอฟทุกวิชา

            ก็เป็นเรื่องการเมืองที่ยุ่ง ๆ ภายในประเทศไทยเป็นปกติ  เพราะถ้า "ฝ่ายค้าน" จะชื่นชม "ลุงตู่" ในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียนก็เสียศักดิ์ศรีฝ่ายค้่านหมด!!

            นับตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไปที่สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดประชุมให้บรรดาเหล่าผู้ทรงเกียรติได้มาถกเถียงโต้กันด้่วยสำนวนโวหารประดิษฐ์วาทะกรรมให้ประชาชนได้อ่านทางตาและได้ยินทางรูหู

            จากการเปิดเทอมสภา ฯ วันแรกที่ผ่านมา  ตามที่มีการคาดกันว่าจะมีวาระที่สำคัญ 3 เรื่องที่น่าสนใจที่จะมีการอภิปรายถกกันในที่ประชุมสภาฯ

            เรื่องแรกคือ การรายงานความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ  มี ดร.วิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี "เนติบริกรครบเครื่อง"  จะเป็นตัวชูโรงชี้แจงให้ท่าน ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลได้รับทราบ

            คิวเรื่องที่ 2 ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ ดร.ปิยบุตร  แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ยื่นญัตติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.

            เรื่องที่ 3 ที่เป็นเรื่องสำคัญสุดขคือ การเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ของพรรคประชาธิปัตย์

            แต่ทว่าทั้ง 3 เรื่อง 3 รสที่อร่อยเหาะทางการเมืองไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาวันปฐมฤกษ์ของการเปิดสภา ฯ สมัยที่ 2  เพราะมีปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนถกกันในที่ประชุมกันมากจนหมดเวลาการประชุม ก็ต้องเลื่อนออกไปตามกติกา

            ส่วนคิวร้อนเรื่องญัตติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเจ้าปัญหา ว่ามาว่าจะถูกดองไปจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

            อ๊ะ อ๊ะ แต่ถ้ายังไม่เข้าสู่การพิจารณาในสภา ฯ สิ้นเดือนนี้  ก็ต้องรอลุ้นในต้นเดือนธันวาคม  กลางเดือนธันวาคม และปลายเดือนธันวาคม ก่อนสิ้นปี 2562

            แต่ถ้าเลยสิ้นปี 2562 ไปถึงต้นปี 2563 รับประกันไม่ต้องตรวจสุขภาพว่า มีปัญหาวุ่นวายโวยวายแน่??

            สำหรับประเด็นร้อนการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกฝ่ายเฝ้าจับตาดูอย่างไม่กะพริบตาว่าใครจะได้รับเลือกเข้ามานั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการ ฯ

            ระหว่าง "เดอะมาร์ค"อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ จากพรรค ปชป. และ "เสี่ยสุชาติ ตันเจริญ" รองประธานสภาผู้แทน ฯ คนที่ 1 สังกัดพรรค พปชร.!!

            ซึ่งก็เป็นการต่อสู้ทางเกมการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลที่ "ฝ่ายค้าน" เพียงแต่นั่งดูไปยิ้มไปเท่านั้น!!

            ไม่ว่าใครจะได้นั่งเก้าอี้ "ประธาน" ก็ไม่สำคัญเท่ากับประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะแก้อย่างไรตรงไหนมาตรการอะไรบ้าง

            ที่อยากให้ขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ  การแก้ไขแบบสุดโต่ง  ตามใจความคิดของตนเอง  หรือเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง เพราะจะทำให้ที่คิดว่าแก้ได้ไม่ยากเย็นก็จะแก้กันยากกว่าที่คิด

            การเสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญคร้ังนี้  นักการเมืองจากทุกพรรคการเมืองต้องตั้งสติให้ดี ๆ ในการแก้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประชาธิปไตยของไทยให้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน

            การจุดพลุให้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฝ่ายอ้างถึงประชาชน   เพราะฉะนั้นต้องให้ประชาชนทั้งประเทศเข้ามามีส่วนร่วมโดยการทำประชามติว่าจะเห็นควรให้ "ผ่าน" หรือไม่??

            แม้ว่าระหว่างการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีข้อสรุปว่าควรแก้ไขมากน้อยแค่ไหน  ก็ต้องผ่านความเห็นจากสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เป็นด่านสำคัญ

            เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 (3)ได้เขียนไว้ว่า "การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อบกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา  ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา"

            ดังนั้น 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด 250 คนคัดค้าน  การแก้ไขรัฐธรรมนูญเจ้าปัญหาก็ "ไม่ผ่าน"!!

ด้วยเหตุฉะนั้นและฉะนี้จะต้องไม่ "หักด้ามพร้าด้วยเข่า" ดังที่ "ท่านชวน หลีกภัย" ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เอ่ยสะกิดเตือนเอาไว้ ก็ควรที่จะต้องรับฟัง   มิฉะนั้นแล้วจะไม่สำเร็จสมใจนึกบางลำภู 

            ที่สำคัญสุด ๆ ต้องแสวงหาความร่วมมือกัน ส.ว. ในการแก้ไขให้มีความราบรื่นไม่ติดขัดด้่วยวิธีการ "มธุรสวาจา" ดังเช่นที่นักวิชาการท่านหนึ่ง (ขออภัยจำชื่อไม่ได้) ได้กล่าวเอาไว้

            แต่ถ้านักการเมืองที่ เป็น ส.ส. ออกมารุมโต้แย้งถล่ม ส.ว. ที่ยังไม่เห็นด้วแบบเยาะเย้ยเสียดสีดิสเครดิต  ความสำเร็จก็จะไกลจากความเป็นจริงไปมาก??

          เพราะฉะนั้น ขอให้ผู้แทนปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญทั้ง2สภา จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสารพัดปัญหาของไทยเป็นไปตามโลกของความจริง  มิใข่ในโลกสวยตามความเพ้อฝัน??

          เอวัง ด้วยประการฉะนี้แล!!

 

 

You may also like

“มนพร”ย้ำห่วงความปลอดภัยช่วง”ลอยกระทง” กำชับ“กรมท่าอากาศยาน” เข้มมาตรการปล่อยโคมลอยใกล้สนามบิน

“มนพร”ย้