โรงไฟฟ้าถ่านหินไต้หวัน-เก่าแต่ทันสมัย
ผมได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไต้หวันสองแห่งด้วยกันคือ Hsinta Power Plant กับ Taichung Power Plant ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีเรื่องน่าสนใจนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้มีความเข้าใจในเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหิน และการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าของประเทศในแถบเอเชียมากขึ้นครับ
โรงไฟฟ้าแห่งแรกที่ไปเยี่ยมชมคือ Hsinta Power Plant นั้น ตั้งอยู่ที่ Kaohsiung City เป็นโรงไฟฟ้าที่เรียกตัวเองว่าเป็น Low-cost, Low carbon, Eco Power Plant ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 4 หน่วย (4 coal-fired steam turbine units) ซึ่งติดตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1980 (37 ปีมาแล้ว) รวม 2,100 MW และยังมีหน่วยผลิตไฟฟ้าแบบ combined-cycle ที่ใช้ LNG อีก 5 หน่วย ซึ่งติดตั้งเพิ่มเติมในเดือนมกราคม ปี 1999 (18 ปีแล้วที่แล้ว) อีก 2,200 MW รวมเป็น 4,300 MW
โรงไฟฟ้าแห่งนี้แม้จะสร้างมานานแล้ว แต่ก็ยังดูใหม่และทันสมัย เพราะมีการลงทุนปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตตลอดจนเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ตลอดเวลา โดยได้มีการลงทุนทางด้านการเก็บรักษาและลำเลียงเชื้อเพลิงถ่านหิน ตลอดจนปรับปรุงด้านการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งการเก็บรักษาน้ำดิบและลดการปล่อยมลภาวะทางอากาศ ตั้งแต่ปี 2005-2015 เป็นเงินถึง 20,800 NTD (เหรียญใต้หวัน) หรือประมาณ 23,000 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ต่ำมาก โดยถ้าเป็นการผลิตจากถ่านหิน ต้นทุนจะอยู่ที่ 1.32 เหรียญ/หน่วย (1.47 บาท/หน่วย) แต่ถ้าเป็นการผลิตจาก LNG อยู่ที่ 1.99 เหรียญ/หน่วย (2.21 บาท/หน่วย) โดยคิดราคาก๊าซในปี 2017 แล้ว ในขณะที่ราคาขายปลีกกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนอยู่ที่ 2.50-2.60 เหรียญ/หน่วย (2.75-2.86 บาท/หน่วย)
และเมื่อเราเข้าไปดูต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าของเขาก็จะพบว่า ต้นทุนส่วนใหญ่ของค่ากระแสไฟฟ้าก็คือค่าเชื้อเพลิงนั่นเอง โดยถ้าเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ค่าเชื้อเพลิงก็เท่ากับ 81% ของต้นทุน ในขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซ ค่าเชื้อเพลิงเท่ากับ 95% ของต้นทุนเลยทีเดียว ดังนั้นค่าไฟฟ้าจะถูกหรือแพง เชื้อเพลิงที่นำมาใช้ในการผลิตจึงมีความสำคัญมาก ในกรณีของโรงไฟฟ้า Hsinta ต้องใช้ถ่านหินถึง 20,000 ตัน/วัน พอๆกับโรงไฟฟ้าเทพาซึ่งจะสร้างขึ้นทางภาคใต้ของไทย ดังนั้นการเลือกใช้ถ่านหินที่มีคุณภาพดี และราคาไม่สูงมาก ตลอดจนการผสมถ่านหินจากแหล่งต่างๆที่มีคุณภาพต่างกันให้ได้ถ่านหินที่เหมาะสมสำหรับโรงไฟฟ้าและมีต้นทุนที่ดีที่สุด จึงมีความสำคัญมาก
สำหรับโรงไฟฟ้าอีกแห่งหนึ่งคือ Taichung Thermal Power Plant นั้นก็เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 5,500 MW อยู่ที่เมืองไท่จง โดยตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำ Tatu เป็นโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในใต้หวัน และเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก (อันดับหนึ่งอยู่ในจีน) ก่อสร้างขึ้นในปี 1988 (เกือบ 30 ปีแล้ว) ผลิตไฟฟ้าได้ 1 ใน 5 ของความต้องการไฟฟ้าของประเทศ
แต่ถึงแม้จะสร้างขึ้นนานแล้ว กระบวนการผลิตและเทคโนโลยีก็ยังทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการขนถ่ายและเก็บรักษาถ่านหิน ซึ่งเป็นระบบปิดทั้งหมด รวมทั้งมาตรฐานการดุแลเรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการปลดปล่อยมลภาวะ ซึ่งทำได้ดีกว่ามาตรฐานมาก
จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าๆยังทำได้ขนาดนี้ เราจะเป็นห่วงกังวลอะไรกับโรงไฟฟ้าสร้างใหม่ !!!
มนูญ ศิริวรรณ
20 ก.ย. 2560
บทความจากคอลัมน์ "พลังงานรอบทิศ" ในนสพ.เดลินิวส์ฉบับวันที่ 21 ก.ย. 2560
Social Links