โลกฟื้น!ส่งออกไทยฉลุย 10 เดือนเฉียด 7 ล้านล้านบาท “ข้าว มันสัมปะหลัง ยางพารา”ฉิว

โลกฟื้น!ส่งออกไทยฉลุย 10 เดือนเฉียด 7 ล้านล้านบาท “ข้าว มันสัมปะหลัง ยางพารา”ฉิว

โลกฟื้น!ส่งออกไทยฉลุย

10 เดือนเฉียด 7 ล้านล้านบาท

“ข้าว มันสัมปะหลัง ยางพารา”ฉิว

                การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม 2564 มีมูลค่า 22,738.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (750,016 ล้านบาท)ขยายตัวร้อยละ 17.4 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 12.2 การส่งออกของไทยยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ท่ามกลางสภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าของไทยมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากการเติบโตทั้งในสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การส่งออก10 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 15.7 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 19.6 สะท้อนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจจริง

                กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปียังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง จากการดำเนินตามแผนผลักดันการส่งออก ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย และมีจำนวนประชากรได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การบริโภค และการส่งออกเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ สถาบัน IHS Markit ได้เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก(Global Manufacturing PMI) เดือนตุลาคม 2564 ที่ยังอยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 จากการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าขั้นกลางเป็นหลัก และดัชนีย่อยคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่(New Export Order) อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเช่นกันเป็นเดือนที่ 14 สะท้อนมุมมองบวกของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

                กลุ่มสินค้าที่ขยายตัวดีได้แก่1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Workfrom Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ 3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ 4) สินค้าขั้นกลางหรือสินค้าวัตถุดิบ เช่น เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางยานพาหนะ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และ 5) สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ยังขยายตัวได้ดี

มูลค่าการค้ารวม

                มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนตุลาคม 2564 การส่งออก มีมูลค่า 22,738.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 17.4 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,108.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 34.6 ดุลการค้าขาดดุล 370.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมการส่งออก 10 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 222,736.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.7 การนำเข้า มีมูลค่า 221,089.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 31.3 ดุลการค้า 10 เดือนแรก เกินดุล1,646.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

                มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนตุลาคม 2564 การส่งออก มีมูลค่า 750,015.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 24.9 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 772,540.0 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 43.3 ดุลการค้าขาดดุล22,524.1ล้านบาท ภาพรวมการส่งออก 10 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 6,952,185.9 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.0 การนำเข้า มีมูลค่า 6,999,330.7 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 31.8 ดุลการค้า 10 เดือนแรก ขาดดุล 47,114.8 ล้านบาท

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

                มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 18.2 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดีได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 51.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง แห้ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 28.7  กลับมาขยายตัวอีกครั้ง (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 33.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดเบนิน โกตดิวัวร์ จีน อังโกลา และอิรัก) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 29.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 111.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา เกาหลีใต้ ไต้หวัน และลาว) สินค้าที่หดตัวได้แก่อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 14.2 หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา และซาอุดีอาระเบีย แต่ขยายตัวดีในตลาดออสเตรเลีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้และแอฟริกาใต้) ไก่แปรรูป หดตัวร้อยละ 18.9 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ฮ่องกง และเยอรมนี แต่ขยายตัวดีในตลาดเนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ และไอร์แลนด์) เครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 10.7 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดเวียดนาม เมียนมา จีน สปป.ลาว และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวดี ในตลาดกัมพูชา และสหรัฐฯ) ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง แห้ง กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 3.4 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร แต่ขยายตัวดีในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์)สินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ หดตัวร้อยละ 47.7 หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (หดตัวในตลาดเวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา ญี่ปุ่น และไต้หวัน แต่ขยายตัวดีในตลาดเมียนมา จีน อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ) 10 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 14.8

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

                มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 13.9 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือนสินค้าที่ขยายตัวดีได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 67.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัว ในตลาดจีน เวียดนาม อินเดีย สิงคโปร์ และกัมพูชา) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 10.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สหรัฐฯ เม็กซิโก อินโดนีเซีย และแอฟริกาใต้) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 18.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย) อัญมณี และเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 20.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และเบลเยียม) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ขยายตัวร้อยละ 35.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย จีน และมาเลเซีย) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 4.6 กลับมาหดตัวในรอบ 17 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และเยอรมนี แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน และอินเดีย) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัวร้อยละ 6.3 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ และไต้หวัน แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม ฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์) ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 11.7 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่นออสเตรเลีย เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย และเกาหลีใต้) เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 29.3 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เวียดนาม และมาเลเซีย แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอียิปต์) 10 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 14.5

ตลาดส่งออกสำคัญ

                การส่งออกไปยังตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกปรับดีขึ้น ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุป ดังนี้

                1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 17.4 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 16.1 จีน ร้อยละ 14.1 อาเซียน (5) ร้อยละ 39.7 CLMVร้อยละ 19.8 และ สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 14.0 ขณะที่ ญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 2.0

                2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 17.8 ขยายตัวในตลาด เอเชียใต้ร้อยละ 50.4 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 33.2 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 38.8 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 14.1 และรัสเซียและกลุ่ม ประเทศ CIS ร้อยละ 78.8 ขณที่ ทวีปออสเตรเลีย หดตัวร้อยละ 7.3 และ

                3) ตลาดอื่น ๆ หดตัวร้อยละ 2.4

                ตลาดสหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 16.1(ขยายตัวต่อเนื่อง 17เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โทรทัศน์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 20.0

            ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 14.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน)สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา เคมีภัณฑ์ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และทองแดง เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 26.1

                ตลาดญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 2.0(หดตัวในรอบ 12 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ทองแดง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 11.7

                ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 39.7 (ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย รถยนต์และส่วนประกอบ อากาศยานและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 14.9

                ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 19.8 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2564ขยายตัวร้อยละ 15.3

                ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัวร้อยละ 14.0 (ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 22.1

                ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 50.4 (ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไขมันและน้ำมัน เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 55.4

                ตลาดอินเดีย ขยายตัวร้อยละ 58.3 (ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไขมันและน้ำมัน เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่10 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 58.4

                ตลาดทวีปออสเตรเลีย (25) หดตัวร้อยละ 7.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เม็ดพลาสติก เหล็กและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 12.5

                ตลาดตะวันออกกลาง (15) ขยายตัวร้อยละ 33.2 (ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 19.0

                ตลาดทวีปแอฟริกา (57) ขยายตัวร้อยละ 38.8 (ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว เครื่องยนต์สันดาป รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 25.7

                ตลาดลาตินอเมริกา (47) ขยายตัวร้อยละ 14.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาป ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 38.3

                ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 78.8 (ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้แก่ อากาศยานและส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 30.1

Industrial port and container yard

 แนวโน้มและแผนส่งเสริมการส่งออกปี2564

                การส่งออกของไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวดีสะท้อนจาก (1) ทิศทางการค้าโลกขยายตัวต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 4 (2) ค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า ช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาให้กับสินค้าไทย (3) การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเตรียมเปิดประเทศในหลายประเทศ ส่งผลดีต่อภาคการค้า (4) ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามอุปสงค์ที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก ช่วยสนับสนุน การส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์และ (5) มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การค้าชายแดนเริ่มคลี่คลาย โดยด่านการค้าสำคัญจะกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง

                สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์(นายจุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์) มอบหมายให้หน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตามยุทธศาสตร์“ตลาดนำการผลิต” และแผนงานของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้ มาตรการส่งเสริมการส่งออกในระยะถัดไป ได้แก่ การผลักดันการส่งออกมันสำปะหลังไทยให้มีคุณภาพอันดับ 1 ของโลก ตามยุทธศาสตร์มันสำปะหลังไทยปี 2564 -2567 การเร่งรัดความตกลง RCEP ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว หลังจากที่ไทยยื่นให้สัตยาบันแล้ว เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าไทย

                การเจรจาเปิดด่านการค้าสำคัญเพื่อลดอุปสรรคการส่งออกหลังวิกฤติโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย รวมไปถึงการเดินหน้าตามแผนรักษาตลาดเดิม สร้างตลาดใหม่ และฟื้นฟูตลาดเก่าที่เสียไป โดยมีกระทรวงพาณิชย์ ทีมเซลล์แมนประเทศและกรอ.พาณิชย์ ที่จะร่วมกันเดินหน้าผลักดันการส่งออกของไทย ให้ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤติโควิด-19

 

You may also like

รัฐบาลไทยช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม บริจาค 3 ล้านบาทแก่องค์การสหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น

รัฐบาลไท