โลกฟื้น-ตุ้นทุนพุ่ง-การผลิตวูบ! เศรษฐกิจจีนถอย / Q 2 โตฝืดแค่ 7.9%

โลกฟื้น-ตุ้นทุนพุ่ง-การผลิตวูบ! เศรษฐกิจจีนถอย / Q 2 โตฝืดแค่ 7.9%

โลกฟื้น-ตุ้นทุนพุ่ง-การผลิตวูบ!

เศรษฐกิจจีนถอย / Q 2 โตฝืดแค่ 7.9%

                 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 2/2564 เติบโตที่ร้อยละ 7.9 (YoY) ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2564 ที่เติบโตร้อยละ 18.3 (YoY) อย่างไรก็ดี การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และสถานการณ์การความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ทั้งในประเทศจีนเองและประเทศคู่ค้า รวมถึงมาตรการของชาติตะวันตกที่อาจออกมาเพิ่มเติมเพื่อกดดันจีน โดยมีรายละเอียดดังนี้

                ภาคการผลิตจีนกลับมาเติบโตในระดับก่อนเกิดโควิด แต่เผชิญปัญหาใหม่เรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แม้ว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production Index) ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขยายตัวในครึ่งปีแรก2564 ที่ร้อยละ 15.9 (YoY, YTD) และนับเป็นการเติบโตเฉลี่ย 2 ปี (ปี 2563 และ ปี 2564) ที่ร้อยละ 7.0 ซึ่งเป็นระดับการเติบโตที่สูงกว่าระดับปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 (เติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 5.8 ในปี 2562) อย่างไรก็ดี ความน่ากังวลสะท้อนจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (Purchasing Managers Index) ภาคการผลิตที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว โดย PMI (CFLP) เดือนมิถุนายน 2564 ปรับลดลงมาแตะระดับ 50.9 นับเป็นค่าต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และ PMI (Caixin) ปรับลดลงมาแตะระดับ 51.3 นับเป็นค่าต่ำสุดในรอบ 3 เดือน โดยเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการผลิตในจีนต้องเผชิญกับปัจจัยท้าท้ายต่างๆ อาทิ ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานประสบปัญหาคอขวด สะท้อนผ่านดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าหน้าโรงงานยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในเดือนมิถุนายน 2564 PPI ขยายตัวในอัตราร้อยละ 8.8 (YoY) ต่อเนื่องจากเดือนเมษายนและพฤษภาคม ที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 (YoY) 9.0 (YoY) ตามลำดับ ตลอดจนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในมณฑลกวางตุ้ง  ที่เกิดจากไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า ทำให้ภาคธุรกิจจีนเผชิญวิกฤตด้านการขนส่ง ท่าเรือหยุดชะงักส่งผลให้การขนส่งเกิดความล่าช้า และส่งผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนของการผลิตนั้นไม่สามารถส่งผ่านไปยังผู้บริโภคได้ในขณะที่ความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเอง

                ภาคการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคเอกชนเริ่มส่งสัญญาณความน่ากังวล จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จากไวรัสกลายพันธุ์ แม้ว่าในครึ่งปีแรก 2564 ตัวเลขการค้าปลีก (Retail Sale) ขยายตัวร้อยละ 23.0 (YoY, YTD) และนับเป็นการเติบโตเฉลี่ย 2 ปี (ปี 2563 และ ปี 2564) ที่ร้อยละ 4.4 แต่ยังเป็นระดับการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 (เติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.04 ในปี 2562) สะท้อนถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มฟื้นตัวแต่ยังไม่กลับมาในระดับเดิม  ขณะที่ภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดวิกฤติการณ์โควิด-19 สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดแรงงานสากล (May Day) ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2564 ที่เติบโตกว่าร้อยละ 100 (YoY) ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดดังกล่าวกลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 อย่างไรก็ดี ความน่ากังวลยังคงอยู่ที่ความเป็นไปได้ของการประกาศปิดเมืองอีกครั้ง หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ประกอบกับประสิทธิภาพของวัคซีนในการต่อต้านไวรัสที่เกิดจากการกลายพันธุ์ ทั้งนี้ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในมณฑลกวางตุ้งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ส่งผลกระทบต่อภาคบริการมากกว่าภาคการผลิต สะท้อนผ่านตัวเลข PMI (Caixin) ภาคการบริการ เดือนมิถุนายนที่ปรับตัวลงแตะระดับ 50.3 ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน ถึงแม้ว่า ทางการจีนจะใช้มาตรการเด็ดขาดทันท่วงที และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ไม่ให้ลุกลามขยายตัวเป็นวงกว้าง หากแต่ PMI ภาคบริการสะท้อนให้เห็นถึงภาพความกังวลที่เกิดจะเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีน และความเชื่อมั่นของประชาชนในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

                การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในอุตสาหกรรมที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิมยังคงเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่า โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวโดดเด่นนั้นยังอยู่ในกระแสการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการ work-from-home ทั้งการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการลงทุนในบริการ E-Commerce ขณะที่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิมยังคงมีการขยายตัวแต่ในอัตราที่ต่ำกว่า อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เห็นได้ว่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในประเทศจีนนั้นดำเนินไปในทิศทางนโยบายที่ประเทศตั้งไว้ กล่าวคือเน้นการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีที่เพิ่มมูลค่าและเน้นคุณภาพ มากกว่าการลงทุนแบบเดิม ที่เน้นการผลิตแบบการประหยัดเชิงขนาดเป็นหลัก

                ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของจีนยังเป็นสหรัฐฯ โดยยอดการส่งออกรวมในครึ่งปีแรก 2564 ขยายตัวร้อยละ 28.1 (YoY, YTD) แตะระดับ 9.85 ล้านล้านหยวน สินค้าส่งออกจีนที่มีการขยายตัวอย่างโดดเด่นได้แก่ ยานยนต์และแซสซีติดตั้งเครื่องยนต์ ส่วนประกอบและชิ้นส่วนยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ ในขณะที่สินค้าที่สนับสนันสนุนการส่งออกในปีที่แล้ว อาทิ อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ขยายตัวเพียงเล็กน้อย ในด้านของการนำเข้าของจีน ในครึ่งปีแรก 2564 ขยายตัวร้อยละ 25.9 (YoY, YTD) แตะระดับ 8.22 ล้านล้านหยวน โดยแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของจีนคือกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.6 ของยอดการนำเข้าทั้งหมด ตามมาด้วยกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 12.2) และไต้หวัน (สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 9.1) โดยสินค้าที่มีการขยายตัวอย่างโดดเด่นได้แก่ สินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ แร่เหล็ก ขยายตัวร้อยละ 71.7 (YoY, YTD) แร่ทองแดง ขยายตัวร้อยละ 46.5 (YoY, YTD) เมล็ดธัญพืช ขยายตัวร้อยละ 54.6 (YoY, YTD)

             จากสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 ทางการจีนได้เลือกใช้นโยบายทางการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยธนาคารกลางจีน (The People’s Bank of China) ได้ประกาศปรับลดอัตราดำรงเงินสำรองธนาคารพาณิชย์(Required Reserve Requirement) เป็นครั้งแรกในรอบปี หลังจากที่มีการปรับลดอัตรา RRR ครั้งล่าสุดในเดือนเมษายน 2563 โดยการปรับ RRR ในครั้งนี้ มีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 โดยเป็นการปรับ RRR ลดลง 50 bps ครอบคลุมธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปตลอดจนขนาดเล็กซึ่งการปรับลด RRR ในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินในระบบกว่า 1 ล้านล้านหยวน (มูลค่าประมาณ 154 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) การปรับลด RRR ครั้งนี้ คาดว่าเป็นมาตรการเร่งให้มีการปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของต้นทุนการผลิต กอปรกับการช่วยเหลือภาคบริการที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในบางพื้นที่

                มองไปในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจจีนยังคงฉายภาพเติบโต แต่ชะลอตัวกว่าช่วงครึ่งแรกของปีเล็กน้อย จากปัจจัยความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนและภาคการผลิต แม้ว่าจีนมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างสูงเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศที่ 1.44 พันล้านคน โดยมีการฉีดไปมากกว่า 1.38 พันล้านโดส การกลายพันธุ์ของไวรัสอาจทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง โดยอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดในระลอกใหม่จนทำให้ต้องประกาศปิดเมืองอีกครั้ง ในขณะที่ทิศทางการส่งออกของจีน ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงจากทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศคู่ค้า และมาตรการของชาติตะวันตกที่ออกมาเพิ่มเติมเพื่อกดดันจีน โดยล่าสุดสหรัฐฯมีคำสั่งห้ามนำเข้าวัสดุโซล่าร์เซลล์จากบริษัทจีน 5 แห่ง เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

                ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน ทั้งปี 2564 ในกรอบร้อยละ 8.0-8.5 (YoY) บนสมมุติฐานว่าไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นวงกว้าง ถึงแม้ว่าเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2/2564 ทั้งในภาคการผลิตจากต้นทุนที่สูงขึ้นและในภาคบริการจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในขณะที่เส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในระยะถัดไป ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากประเด็นประสิทธิภาพของวัคซีนในการต่อต้านไวรัสกลายพันธุ์ จากทั้งในประเทศจีนและประเทศคู่ค้าที่อาจส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงความเสี่ยงจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มยกระดับความรุนแรงจากระดับทวิภาคีเป็นระดับพหุภาคี จากการกดดันจีนร่วมกันผ่านการประชุมร่วมของกลุ่มประเทศ G7 และ NATO ในเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งสัญญาณเชิงลบกับจีนอย่างมีนัยสำคัญ และมีความเป็นไปได้ในการออกมาตรการตอบโต้จีนมาเพิ่มเติม ทั้งในด้านมาตรการกันกีดกันทางการค้าและกฎหมายด้านความมั่นคง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของจีนในอนาคต อย่างไรก็ดี ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย คาดว่าทางการจีนยังคงมีเครื่องมือทางการเงินและการคลังที่มากพอในการประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการจีนตั้งเป้าไว้ หรือขยายตัวทั้งปี 2564 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.0(YoY)

You may also like

อาร์ทีบีฯ ชูผู้นำตลาด VDO Conference คว้า 5 รางวัลใหญ่จาก Logitech ปี 2025 เดินหน้าองค์กรสู่ยุคดิจิทัลเต็มร้อย

อาร์ทีบี