ไทยแลนด์ (เลท) เทคออฟ
“ไทยแลนด์ เทคออฟ” ธีมงานที่ค่ายโพสต์จัดฉลองครบรอบ 15 ปี ให้กับนสพ.โพสต์ทูเดย์ ยุคของ บ.ก.วุฒิ นนทฤทธิ์ ด้วยการเชิญ “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” รมว.กระทรวงการคลัง รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม รมว.กระทรวงพาณิชย์ และ รมว.กระทรวงเกษตรฯ มาร่วมเสวนาในหัวข้อข้างต้น ภายใต้การนำของหัวหน้าทีมฯ อย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อวันก่อน
หลายคนอาจตั้งข้อสงสัย? ในเมื่อ ดร.สมคิด สนิทชิดเชื้ออยู่กับสื่อค่ายนี้ รวมถึงมีคอนเน็กชั่นระดับ “บิ๊กเบิ้ม” กับผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของตัวจริง คือ “เครือเซ็นทรัล” แถมยังบอกเอง ทั้งบนเวทีเสวนา และลงมาให้สัมภาษณ์กับสื่อด้านล่าง ทำนอง…เคยมาร่วมเปิด นสพ.ฉบับนี้ ตั้งแต่เริ่มตั้งไข่เมื่อ 15 ปีก่อน
จริงหรือ? ที่จู่ๆ สื่อค่ายนี้จะตั้งธีมงาน “ไทยแลนด์ เทคออฟ” โดยไม่มีการส่งสัญญาณใดๆ จากตัวของ ดร.สมคิด หรือทีมงานฯ เพื่อจัดงานนี้ขึ้นมา
ส่วนตัว…ผมขอสงวนความเห็นและท่าที เอาเป็นว่า…หากเศรษฐกิจไทย ที่เครื่องยนต์กลไกทางเศรษฐกิจทุกตัวกำลังขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง และทำหน้าที่ของมันเองอย่างที่ควรจะเป็น…กระทั่ง ผลักดันและฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของไทย ทะยานขึ้นสูงและไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ…ย่อมถือเป็นเรื่องที่ดี ต้องสนับสนุนกัน
มีคำถามตามมา…ภาวะที่ว่านี้ จะ “เทคออฟ” กันอย่างไร? ปลายทางอยู่ที่ไหน? คำตอบที่ได้จากปาก “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” คือ ภาครัฐขับเคลื่อนผ่านนโยบายและมาตรการต่างๆ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างขนาดใหญ่ อย่าง…รถไฟความเร็วสูง
โดยเฉพาะกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC นั้น ถูกคาดหวังจะเป็น “ตัวฉุด” ที่ทรงพลังมากที่สุด ขอเพียงคนไทยทุกภาคส่วนช่วยกันดูแล การเมืองที่ใกล้ถึงโหมดเลือกตั้ง ก็อย่า “ฉุดรั้ง” หรือทำลายบรรยากาศ “ความเชื่อมั่น” ทั้งของคนไทยและนักลงทุนต่างชาติ
ส่วนปลายทางนั้น ดร.สมคิด บอกว่า…ไม่ได้สนใจตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี หากมันจะโต 3% 4% 5% มากหรือน้อยกว่านั้น ก็ไม่ใช่ปัญหา ขอเพียง…เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ไม่ใช่มีแต่ภาพหวือหวา “ดีแต่ต้น แล้วมาร้ายปลายทาง” (ประโยคหลังนี่ ผมสรุปเอง…เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น)
กระนั้น ผมก็มีโอกาสถามไถ่ ดร.สมคิด ทำนอง…มั่นใจได้อย่างไรว่า รัฐบาลสมัยหน้าจะไม่เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือยกเลิก นโยบายของรัฐบาลนี้ คำตอบที่ได้คือ…ไม่เป็นไร การเมืองก็คือการเมือง พรรคการเมืองที่มาเป็นรัฐบาล ย่อมต้องมีนโยบายของตัวเอง การจะเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ประชาชนก็ต้องคอยจับตาดูด้วย
ผมถามอีกว่า…มีโอกาสจะกลับมาดูแลนโยบายด้านเศรษฐกิจอีกหรือไม่? ดร.สมคิด บอกว่า…อายุขนาดนี้ (65 ปี) ต้องรู้ตัวเองว่าควรจะอยู่ตรงจุดไหน?
เสียดาย…เวลาที่มีให้กลุ่มผู้สื่อข่าวมีน้อยเกินไป หลายคำถามไม่ถูกถ่ายทอดออกมา ที่ผมยังกั๊กไว้…ไม่ทันได้ถาม คือ กับนโยบายเมื่อ 2-3 ปีก่อน ที่ “ทีมเศรษฐกิจ” ของ ดร.สมคิด ได้รังสรรค์เอาไว้ คือ เร่งอุปถัมภ์ ค้ำชูสนับสนุน ช่วยเหลือธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดยักษ์
ด้วยหวังจะให้นายทุนกลุ่มนี้เข้มแข็ง แล้วกลับมาโอบอุ้ม ช่วยเหลือ และดูแลธุรกิจขนาดเล็ก ผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงพนักงานและลูกจ้างคนงานนั้น เอาเข้าจริง…เมื่อคนกลุ่มนั้นเติบโตและยิ่งเข้มแข็งมากขึ้น พวกเขาได้กลับมาทำหน้าที่ตรงนั้นหรือไม่? ถ้าไม่หรือทำไม่ได้อย่างที่รัฐบาลคาดหวัง จะถือเป็นความล้มเหลวในเชิงนโยบายหรือไม่?
ที่ต้องถาม…เพราะช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล คสช. เห็นเร่งเร้าเป็นพิเศษกับการจะมาดูแลช่วยเหลือและโอบอุ้มเศรษฐกิจฐานราก ระดับรากหญ้า มากจนผิดสังเกต เพราะหากรายใหญ่-รายยักษ์ คิดจะช่วยเหลือคนระดับล่างๆ กันจริงๆ จังๆ
รัฐบาล คสช. และทีมเศรษฐกิจของ ดร.สมคิด คงไม่ต้องออกแรงกันมากมายขนาดนี้หรอกครับ? หรือไง?.
สุเมธ จันสุตะ
Social Links