ไทยในทิศทางที่ดีขึ้น
"รัฐบาลไทยได้หน้า อเมริกาได้เงิน"
ใครจะคิด…มอง และเชื่อเช่นนั้น ก็ไม่แปลกอะไร แต่สำหรับผม…เห็นต่างออกไป
แน่นอน สหรัฐอเมริกา ยุค ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ จะขอเดินหน้า “อเมริกัน เฟิร์สท์” มากกว่าจะเน้นนโยบาย "ตำรวจโลก" ที่ยึดโยงหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพ เหมือนผู้นำคนก่อนหน้านี้
ความที่เคยเป็น…นักธุรกิจระดับ "พ่อค้าทรงอิทธิพล" ของ ทรัมป์ ย่อมทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และหัวหน้า คสช. คงยากจะทัดทานข้อเสนอเชิงบังคับทางการค้า เพราะปมด้อยทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่ประชาคมโลกไม่ยอมรัฐบาลเผด็จการทหาร
เนื่องเพราะรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ อำนาจรัฐมาด้วยการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 หรือเมื่อเกือบ 4 ปีก่อน นั่นเอง
กอปรกับการได้เข้าพบ "ผู้นำสหรัฐฯ" ย่อมทำให้ภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีไทย ที่แต่เดิม…ดูไม่ค่อยจะดีนัก อาจดูดีขึ้นมาอีกนิด จึงไม่แปลกที่จะมีวลีเสียดสีข้างต้น เพราะเงื่อนไขแกมบังคับในเรื่องของการทำการค้า ที่ผู้นำสหรัฐฯ มองว่า…ไทยเอาเปรียบ และเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มายาวนานและมากเกินไป
ข้อเสนอที่ยื่นให้ พล.อ.ประยุทธ์ จนต้องยอมรับในพันธสัญญาต่อกัน ตั้งแต่…การเพิ่มพื้นที่และเวลาให้บริษัทน้ำมันยักษ์ อย่าง…กลุ่มเชฟรอน ซึ่งทุกวันนี้…ก็กินเงียบกับการแสวงหาทรัพยากรใต้ทะเลฝั่งอ่าวไทย ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากมายและเงียบกริบอยู่แล้ว
ปมนี้…เป็นสิ่งที่คนบางกลุ่ม? ย่อมไม่เห็นด้วย พอๆ กับการที่รัฐบาลไทยจำต้องสั่งซื้อ…ถ่านหิน ที่ดูๆ แล้ว ต้นทุนค่าขนส่งระยะทางครึ่งโลก อาจจะสูงกว่าราคาถ่านหินเองด้วยซ้ำไป และคงต้องจับตาดู…กลุ่มต่อต้านที่ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งแต่ต้น เมื่อเห็นข่าวสหรัฐฯ บังคับขายถ่านหินให้ไทย แล้วจะมีปฏิกิริยาอะไรออกมาบ้าง?
นี่ยังไม่นับรวม…หมูและเครื่องในสัตว์ ที่ไทยต้องสั่งนำเข้ามาขายในประเทศ ซึ่งประเด็นนี้…คงทำให้กลุ่มยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรและปศุสัตว์ อย่าง….เครือ ซีพี, กลุ่มเบทาโกร และรายใหญ่อีกบางกลุ่ม? รู้สึกอึดอัดใจกับนโยบายนี้ของรัฐบาล คสช.
ในแง่ของความคุ้มค่า ทั้งทางเศรษฐกิจและการค้า รอบนี้…ยอมรับว่า “ไทยเสียท่า” ให้กับสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไม่ต้องสงสัย?
แต่หากมองลึกว่านั้น มันจะมีอะไรซ่อนลึกๆ มากกว่าสัญญาที่ดูไม่ค่อยจะคุ้มค่ามากนักนักสักเท่าใด?
ส่วนตัวผมมองว่า…แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะ “เสียท่า” ในทางการค้า เพื่อแลกกับการ “ได้หน้า” ที่ก็ได้มาไม่เท่าไหร่นัก…ในทางการเมืองระหว่างประเทศ
แต่ผลจากการพบปะของ 2 ผู้นำรอบนี้ มันทำให้…คู่ค้าในซีกตะวันตก ไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกาเอง หรือแม้แต่หลายประเทศในยุโรป เริ่มหน้าในการทำการค้ากับไทย…มากขึ้น
ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ผ่านเอเย่นต์ อย่าง…สิงคโปร์ และอีกบางประเทศ เช่นที่เป็นอยู่
เมื่อสหรัฐฯ ยอมรับรัฐบาลทหารของไทย ชาติตะวันตก และองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ก็ผ่อนปรนกับไทยมากยิ่งขึ้น ที่เห็นชัดคือ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านการบินระดับโลก ที่ทำการ “ปลดธงแดง” หน้าชื่อประเทศไทยออกแล้ว หลังจากไทยถูกคาดโทษมานานกว่า 2 ปี
ตรงนี้ต่างหากที่ผมเห็นต่าง และคิดว่ามันจะมีอะไรลึกๆ ซ่อนอยู่ในเกมนี้อีก
การประกาศผ่อนปรนทางการเมือง และแผนการเลือกตั้งในปลายปี 2561 ที่แม้หลายฝ่ายจะยังคงเคลือบแคลง เนื่องจากก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เคยประกาศมาแล้วถึง 4 ครั้ง นับแต่ปี 2558 2559 2560 และปี 2561
ทว่ารอบนี้…น่าจะดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เพราะแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้าใส่ในยามนี้ ค่อนข้างจะรุนแรง อีกทั้งในส่วนของกฎหมายลูก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ต่างก็ทยอยจัดทำกันแล้วเสร็จสมบูรณ์จริงๆ ก็คงปลายปีนี้ ต่อเนื่องช่วงต้นปีหน้า
หากไม่มีสถานการณ์พลิกผันในทางการเมือง และพรรคการเมืองต่างๆ เอง ก็อยู่ในภาวะที่ไม่เป็นตัวปัญหา สร้างสถานการณ์และเงื่อนไขใดๆ แล้ว เชื่อว่าการเลือกตั้งรอบใหม่ คงจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
เพราะแค่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงกรอบเวลาการเลือกตั้งเท่านั้น มีการขานรับจากตลาดหุ้นไทยในทิศทางขาขึ้นทัน และขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันหลายวันทีเดียว
เมื่อปัจจัยบวกหลายตัว ถูกซ่อนปมอยู่กับการที่รัฐบาลไทยต้อง “ยอมเสีย” ในทางการค้าแก่สหรัฐฯ
ส่วนตัวผมจึงเชื่อว่า…จากนี้ไป เราอาจได้เห็นทั้งรัฐบาลและเอกชนชั้นนำของชาติตะวันตกและที่อื่นๆ หันมาทำการค้าโดยตรงกับไทยมากขึ้น
เงื่อนไขหรือกำแพงการค้าที่เคยสร้างและกีดกันไทย จะค่อยลดน้อยลงไป
นักท่องเที่ยวที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศ เคยออกหนังสือเตือนกันไว้ ก็คงจะคลายตัวลง และเป็นผลทำให้นักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา จากยุโรป และจากแหล่งอื่นๆ หันมาเดินทางท่องเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น
หวังว่าปรากฏการณ์นี้…คงจะเกิดขึ้นจริง!
สุเมธ จันสุตะ
Social Links