ไทย-ส่งออกเริ่มฟื้น ปีหน้าถ้าไม่นับรวมเงินดิจิทัล 1 หมื่น คาดเศรษฐกิจขยับ 3.2% ด้านเศรษฐกิจโลกยังชะลอ

ไทย-ส่งออกเริ่มฟื้น ปีหน้าถ้าไม่นับรวมเงินดิจิทัล 1 หมื่น คาดเศรษฐกิจขยับ 3.2% ด้านเศรษฐกิจโลกยังชะลอ

ไทยส่งออกเริ่มฟื้น

ปีหน้าถ้าไม่นับรวมเงินดิจิทัล 1 หมื่น คาดเศรษฐกิจขยับ 3.2%

ด้านเศรษฐกิจโลกยังชะลอ

……………………………

ประเทศแกนหลักของโลกให้ความสำคัญมากขึ้นต่อแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

……………………………

สหรัฐ

คาดเฟดคงดอกเบี้ยหลังตัวเลขชี้นำทางเศรษฐกิจบ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อการชะลอตัวชัดเจนขึ้น แม้ว่าตัวเลขประมาณการ GDP ไตรมาส 3 ครั้งแรก อยู่ที่ 4.9% QoQ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ 4.7% แต่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคม ลดลงสู่ 63.8 ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ส่วนผู้ขอรับสวัสดิการครั้งแรกในสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้นสู่ 2.10 แสนตำแหน่ง ดัชนี Core PCE เดือนกันยายนสอดคล้องกับคาดการณ์ที่ 3.7% YoY แต่ชะลอมากสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564

แม้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวโดดเด่นในไตรมาส 3/2566 แต่แนวโน้มหลังจากนี้คาดชะลอตัวลงจาก (i) ในเดือนสิงหาคม รายได้ที่แท้จริงของภาคครัวเรือนหลังหักภาษีหดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ในขณะที่เงินออมส่วนเกินปรับตัวลงต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 สะท้อนความสามารถการบริโภคที่มีแนวโน้มชะลอลง (ii) การชะลอตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของภาคบริการที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของ GDP และ (iii) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วง 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 80 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ GDP ของสหรัฐที่มีแนวโน้มชะลอลงสู่ 0.8% QoQ ในไตรมาส 4 จาก 4.9% ในไตรมาส 3 (อ้างอิงจาก Bloomberg consensus) ทั้งนี้ จากภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวและการลดลงของแรงกดดันเงินเฟ้อ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 1 พฤศจิกายน

ยูโรโซน

การบริโภคและส่งออกที่อ่อนแอ คาดฉุดเศรษฐกิจยูโรโซนหดตัวในไตรมาส 3 ในเดือนตุลาคม ดัชนี PMI ภาคการผลิตอยู่ที่ 43.0 ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการอยู่ที่ 47.8 ส่งผลให้ดัชนี PMI รวมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ 46.5 ขณะที่ในเดือนกันยายน ปริมาณเงิน M3 หดตัว 1.2% ส่วนยอดการปล่อยสินเชื่อภาคเอกชนชะลอลงสู่ระดับ 0.8% จากผลของการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ที่ 4.00% โดยเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565

ผลจากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงรวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจของกลุ่มประเทคู่ค้าที่ชะลอตัว โดยเฉพาะจีนที่เป็นตลาดส่งออกหลักของยูโรโซน (มากกว่า 50% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด) จะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภค ส่งออก และฉุดรั้งเศรษฐกิจยูโรโซนให้มีแนวโน้มหดตัวลงในไตรมาส 3 ขณะเดียวกัน การหดตัวอย่างต่อเนื่องของปริมาณเงินในระบบรวมถึงการชะลอตัวของสินเชื่อในภาพรวมเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ทั้งนี้ จากแรงส่งทางเศรษฐกิจที่แผ่วลงอย่างต่อเนื่องภายใต้ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ที่ระดับ 4.00% ต่อเนื่องจนถึงกลางปีหน้า หรือจนกว่าจะเห็นสัญญาณที่น่าเชื่อถือเพียงพอว่าอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% อย่างยั่งยืน

 จีน

จีนออกมาตรการหนุนรัฐบาลท้องถิ่นและเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่ภาคอสังหาฯเผชิญวิกฤตต่อเนื่อง คณะกรรมการถาวรของสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) อนุมัติการออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน และผ่านร่างกฎหมายที่จะอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นได้รับโควต้าในการออกพันธบัตรในปีงบประมาณ 2567 โดย  Bloomberg คาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจจีนได้ราว 0.1ppt ในไตรมาส 4 ปีนี้ และอีก 0.5ppt ในปีหน้า ด้านตัวเลขเศรษฐกิจปรับดีขึ้น โดยในเดือนกันยายน กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ที่ 11.9% YoY จากในช่วง 8 เดือนแรก -11.7% ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกขยายตัวดีเกินคาดที่ 4.5% และ 5.5% ตามลำดับ

ทางการจีนดำเนินมาตรการพยุงเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม โดยล่าสุดการอนุมัติการออกพันธบัตรรัฐบาล 1 ล้านล้านหยวน จะส่งผลให้สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP เพิ่มขึ้นสู่ 3.8% จาก 3.0% ซึ่งเป็นการสนับสนุนการบูรณะซ่อมแซมพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการระบายน้ำในพื้นที่เขตเมือง ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังสั่นคลอนเศรษฐกิจจีน โดยล่าสุด บริษัทพัฒนาอสังหา Country Garden ประกาศผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้สกุลดอลลาร์เป็นครั้งแรก ด้านตัวเลขการลงทุนในอสังหาฯ ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ยังหดตัวต่อเนื่องที่ -9.1% และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเติบโตต่ำกว่าคาดที่เพียง 3.1% สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งอาจกดดันการเติบโตของจีนในระยะถัดไป

 เศรษฐกิจไทย

ภาคส่งออกมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยง ขณะที่คลังมองเศรษฐกิจไทยในปีหน้าที่ไม่นับรวมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตจะเติบโตที่ 3.2%

มูลค่าส่งออกเดือนกันยายนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 2.1% วิจัยกรุงศรียังคงคาดการณ์ส่งออกทั้งปีหดตัวที่ 1.5% กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกเดือนกันยายนอยู่ที่ 25.5 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2.1% YoY ดีกว่าที่ตลาดการณ์ว่าจะหดตัวที่ 1.8% และเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคมที่ +2.6% ปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของตลาดสำคัญ อาทิ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน อินเดีย และอาเซียน-5 ประกอบกับความต้องการสินค้าด้านอาหารเพิ่มขึ้น หนุนให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรพลิกกลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน (+12.0%) ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวเล็กน้อย (-0.3%) สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี (มกราคม-กันยายน) มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวที่ 3.8%

โมเมนตัมการส่งออกมีสัญญาณดีขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 และยังมีแนวโน้มที่มูลค่าการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะกลับมาขยายตัวได้เป็นไตรมาสแรกในรอบ 1 ปี ตามการทยอยฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าในแถบเอเชีย และยังได้อานิสงส์จากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่จีนมีการล็อคดาวน์ อย่างไรก็ตาม การเติบโตในช่วงท้ายปีอาจไม่สามารถช่วยหนุนให้ภาพรวมมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 เป็นบวกได้ โดยวิจัยกรุงศรียังคงคาดการณ์ว่าจะหดตัว 1.5% นอกจากนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส หากขยายวงกว้างในตะวันออกกลางอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าโลกและการส่งออกของไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในตลาดตะวันออกกลาง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน และข้าว เป็นต้น ซึ่งไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าดังกล่าวคิดเป็นราว 13% และ 14% ของการส่งออกสินค้านั้นๆ ในตลาดโลก

สศค. คาดเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่ยังไม่นับรวมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตจะขยายตัวที่ 3.2% จาก 2.7% ในปีนี้ ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2566 ขยายตัวที่ 2.7% (ช่วง 2.2-3.2%) จากเดิมคาด 3.5% เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและภาคส่งออกมีแนวโน้มอ่อนแอกว่าคาด สำหรับปี 2567 สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.2% (ช่วง 2.2-4.2%) จากปัจจัยหนุนของการบริโภคภาคเอกชน ภาคท่องเที่ยวที่ยังเติบโตต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเดินทางเข้าไทยราว 34.5 ล้านคน การส่งออกที่จะกลับมาขยายตัวได้ 4.4% ซึ่งจะช่วยหนุนการลงทุนภาคเอกชน

ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่อัตรา 3.2%  สศค.ระบุว่ายังไม่นับรวมมาตรการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล ซึ่งล่าสุดมีความคืบหน้าเกี่ยวกับแนวทางในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย โดยอาจปรับจากแนวทางเดิมที่จะให้กับทุกๆ คนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เปลี่ยนเป็น 3 แนวทางด้วยกันคือ (i) ให้เฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีสิทธิ 15-16 ล้านคน (ii) ตัดกลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาท เหลือผู้มีสิทธิรวม 43 ล้านคน และ (iii) ตัดกลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท ผู้มีสิทธิ 49 ล้านคน ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความชัดเจนว่ารัฐบาลจะเลือกแนวทางใด อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นวิจัยกรุงศรีประเมินว่าผลบวกของมาตรการดังกล่าวต่อเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับเม็ดเงินใหม่ที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ว่าจะหนุนให้ GDP บวกเพิ่มขึ้นได้ราว 0.4-1.1% จากกรณีฐานที่ยังไม่นับรวมมาตรการ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ตัวเลขแรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจอาจโน้มเอียงไปทางขอบล่างของการประมาณการดังกล่าว

 

 

You may also like

ราคาคาร์บอนเครดิตกับปัญหา การพัฒนาตลาดคาร์บอนในประเทศไทย

ด้วยรูปแ