กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 31.00-31.25
ลุ้นผลประชุมเฟด–วัคซีนขาดช่วง
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวใน 31.00-31.25 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 31.07 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 31.03-31.24 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ท่ามกลางกระแสเงินทุนไหลเข้า เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศคงนโยบายตามคาดและปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี อีซีบีเน้นย้ำว่าจะซื้อพันธบัตรในอัตราที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกว่าช่วงต้นปีนี้ภายใต้โครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) นอกจากนี้ อีซีบีคาดว่าในระยะยาวอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายจนถึงปี 2566 ทางด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนพฤษภาคมของสหรัฐฯ ทะยานขึ้น 3.8% ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายปีครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 29 ปี อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของสหรัฐฯย่อตัวลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 3,569 ล้านบาท และ 14,420 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะจับตาข้อมูลยอดค้าปลีกเดือนพฤษภาคมของสหรัฐฯ และการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)วันที่ 15-16 มิถุนายน โดยคาดว่าเฟดจะยังคงประเมินอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นว่าเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวและยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับนโยบาย หลังตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดได้รับแรงหนุนจากภาคบริการขณะที่สหรัฐฯคลายล็อคดาวน์ รวมถึงการพุ่งขึ้นของราคายานพาหนะมือสอง ภาวะขาดแคลนชิปทั่วโลก และฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีที่แล้ว อนึ่ง การที่บอนด์ยิลด์สหรัฐฯไม่ตอบรับต่อตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวอาจสะท้อนว่าเฟดประสบความสำเร็จในการสื่อสารกับตลาดก่อนหน้านี้ว่าราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น อย่างไรก็ดี ต้องติดตามการประเมินภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อรวมถึงประมาณการดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plots) จากเฟดในรอบนี้ และท่าทีของเฟดต่อการเริ่มส่งสัญญาณลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป ส่วนการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) วันที่ 17-18 มิถุนายน คาดว่าจะคงนโยบายตามเดิม
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการกระจายวัคซีนที่อาจขาดช่วงในสัปดาห์นี้ รวมถึงความต่อเนื่องของกระแสเงินทุนไหลเข้า อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้เงินบาทจะอ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาคนับตั้งแต่ต้นปี 2564 แต่หากเทียบเฉพาะเดือนมิถุนายน เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในกลุ่ม ขณะที่สกุลเงินตลาดเกิดใหม่แข็งค่าไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยเราคาดว่าเงินบาทจะย่ำฐานในกรอบที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้
Social Links