กลุ่มสตรีเบตงร่วมกิจกรรมส่งเสริมอาชีพสตรี
จัดทำผ้าพิมพ์ลายพระราชทานจากเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ
เสริมสร้างรายได้
กลุ่มสตรีในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ร่วมกิจกรรมส่งเสริมอาชีพสตรีจัดทำผ้าพิมพ์ลายพระราชทานจากเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และชุมชนต่อไป พร้อมทำลายผ้าเบตงให้เป็น SOFT POWER ในอนาคต
ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเบตง จังหวัดยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มอาชีพในพื้นที่กิจกรรมส่งเสริมอาชีพสตรีจัดทำผ้าพิมพ์ลาย ตำบลอัยเยอร์เวง และ ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ภายใต้กิจกรรมโครงการเสริมสร้างและพัฒนาอาชีพในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมมิติด้านเศรษฐกิจช่วยเหลือปัญหาเกี่ยวกับรายได้การว่างงาน การส่งเสริมกลุ่มอาชีพให้มีการพัฒนาและมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยสร้างอาชีพเพิ่มรายได้เสริม ช่วยจุนเจือฐานะทางครอบครัวให้รายได้เพียงพอกับรายจ่าย นำไปสู่ความเข้มแข็งของหมู่บ้านตำบล ขยายสู่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อไป โดยมี นางมุกดา ยังอภัย ณ สงขลา นายกกิ่งกาชาดอำเภอเบตง นางมาเรียม จอหวัง พัฒนาการอำเภอเบตง นายศตวรรษ อรุณรัตน์นักวิชาการพัฒนาชุมชนตำบลอัยเยอร์เวง และกลุ่มสตรีทั้ง 2 ตำบล เข้าร่วม
นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายภารกิจแนวทางด้านการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนทุกมิติ ลดปัญหาการว่างงานเสริมสร้างและพัฒนาอาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน / หมู่บ้าน ให้เกื้อหนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กรอบแนวทางการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงผ่าน “โครงการตำบลมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนโครงการฯ เพื่อเสริมศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางการพัฒนาเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยผ่านกลไก ตามแนวทางการขับเคลื่อนงานสภาสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นางสาวซูไรดา มะคาเรง วิทยากรผ้าพิมลาย กล่าวว่า การพิมลายและลงสีชั้นเดียวจะเป็นเทคนิคของการทำผ้าพิมลายขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้พัฒนาไปต่อยอดนำผ้าดังกล่าวไปทําเป็นของที่ระลึก ของฝาก ของใช้ อาทิ กระเป๋าถือผ้าพิมลาย กระเป๋าสะพายข้าง พวงกุญแจ หรือทำเป็นผ้าลือปัส ผ้าอเนกประสงค์คนมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้การใช้สอยเหมือนกับผ้าขาวม้าในภาคอื่นๆ ของไทย ใช้ผ้ามาคลุมไหล่ คลุมหัว ทำผ้าฮิญาบคลุมผมมุสลิม และนำมาเป็นผ้าสโสร่งในพิธีเข้าสุหนัตของผู้ชายมุสลิม และนำมาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายที่สวยงาม มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ช่วยสืบสานให้ความงดงามของวิถีชีวิตที่ผูกพันกับผืนผ้าคงอยู่ต่อไป และสามารถนำไปจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว ต่อไปในอนาคต ซึ่งตามท้องตลาดจะมีราคาตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักแสนบาทเลยทีเดียว
นางสาวซูไรดา กล่าวอีกว่า สำหรับการฝึกสอนในครั้งนี้ จะเน้นฝึกพิมลายพระราชทานจากเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ อาทิ ผ้าลาย “ลายดอกรัก” ที่สื่อถึงความรักและกำลังใจ และสร้างสรรค์ขึ้นเป็น “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และ ผ้าลายขอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทุกลวดลายเปี่ยมไปด้วยความหมาย อาทิ ลายตัว S หมายถึง Sirivannavari สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา นอกจากนี้ยังมีลายพระราชทานลายใหม่ จากเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ชื่อว่าลายป่าแดนใต้ ที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายแดนใต้ ลวดลายประกอบด้วย ลายดอกดาหลาสัญลักษณ์ของดอกไม้พื้นถิ่นภาคใต้ ,ลายนกเงือก 10 ตัว หมายถึง พระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังหมายถึงความรักที่ซื่อสัตย์ ,ลายเถาไม้รูปตัว S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายคลื่นตัว S และลายลูกปลากุเลา หมายถึง ความห่วงใยในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของภาคใต้ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายปารังและลายต้นข้าว สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของภาคใต้
ด้าน นางอรวรรณ แซ่หว่อง ผู้เข้ารับการอบรม กล่าวว่า การเข้ารับการอบรมผ้าพิมลายในครั้งนี้จะทำให้เราสามารถต่อยอด นำผ้าพิมลายต่างๆ ไปทําผลิตภัณฑ์ ง่ายๆ อาทิ กระเป๋า ผ้าถุง เป็นชุดตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นการเสริมรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ มีรายได้ให้กับครอบครัว และชุมชนต่อไป และพร้อมทำลายเบตงให้เป็น SOFT POWER ในอนาคต
Social Links