กังวลลดลง หนี้ครัวเรือนขยับขึ้น
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนก.พ. 2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ที่ระดับ 45.7 จากเดิมที่ระดับ 45.5 ในเดือนม.ค. 2562 จากความกังวลที่ลดลงของครัวเรือนต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากครัวเรือนบางส่วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนไปในทิศทางที่ระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเพิ่งผ่านพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ครัวเรือนมีการใช้จ่ายค่อนข้างสูงในรายการพิเศษต่างๆ เช่น ท่องเที่ยว สังสรรค์ หรือเข้าวัดทำบุญ เป็นต้น จึงทำให้ครัวเรือนมีการใช้จ่ายน้อยลงในเดือนก.พ. 2562 นอกจากนี้ ครัวเรือนไทยยังมีความกังวลเรื่องภาระหนี้สินลดลง จากการเปรียบเทียบผลสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยระหว่างเดือนม.ค. 2562 และเดือนก.พ. 2562 พบว่า ครัวเรือนไทยที่มีค่างวด (หนี้) ที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนจำนวนลดลงจากร้อยละ 17.1 ในเดือนม.ค. 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 15.3 ในเดือนก.พ. 2562 โดยสาเหตุหลักๆ เนื่องมาจากครัวเรือนที่ทำการสำรวจมีการผัดผ่อนการชำระหนี้ในเดือนก่อนลดลง จึงทำให้ภาระหนี้สินในเดือนปัจจุบัน (รวมดอกเบี้ย) ไม่เพิ่มขึ้น ประกอบกับครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายในรายการพิเศษที่ทำให้ต้องกู้ยืม จำนำ จำนอง หรือกดเงินสดจากบัตรลดลง
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อให้เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความรู้สึกของครัวเรือนที่มีต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยค่าดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 หมายถึง ครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่า ภาวะการครองชีพ “ดีขึ้น” ในทางตรงกันข้าม ค่าดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 หมายถึงภาวะการครองชีพ “แย่ลง”
หมายเหตุ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทยขยายขอบเขตการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไปยังส่วนภูมิภาค (ต่างจังหวัด) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 เป็นต้นไป
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 46.9 ในการสำรวจช่วงเดือนม.ค. 2562 มาอยู่ที่ระดับ 47.4 ในการสำรวจช่วงเดือนก.พ. 2562 สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อภาพเศรษฐกิจไทยภายหลังการเลือกตั้ง โดยครัวเรือนไทยมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำในระยะ 3 เดือนข้างหน้า (เดือนมี.ค.–พ.ค. 2562) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครัวเรือนเกษตรมองว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า จากทั้งราคาสินค้าเกษตรบางประเภทที่ปรับตัวดีขึ้น เช่น ราคายางพาราที่เริ่มขยับขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ช่วงก่อนการปิดกรีดยางพารา (1 เม.ย. 2562) ในพื้นที่ภาคใต้ จึงทำให้โรงงานแปรรูปต่างๆ เตรียมกักตุนวัตถุดิบยางเพื่อใช้ในการผลิตช่วงปิดกรีดยาง (เดือนเม.ย.-พ.ค. 2562) ผลักดันราคายางพาราให้ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งมีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตของสินค้าเกษตรบางรายการสำคัญ เช่น ทุเรียน ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน นอกจากนี้ ยังมีข่าวคราวเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงเดือนเม.ย. 2562 ที่ทำให้ครัวเรือนซึ่งพึ่งพิงค่าจ้างรายวันมีความคาดหวังว่าจะมีรายได้ที่ดีขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ดี ครัวเรือนไทยคาดว่า ในช่วงระยะ 3 เดือนข้างหน้า (เดือนมี.ค.-พ.ค.) จะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สะท้อนจากดัชนีองค์ประกอบที่แสดงมุมมองเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับลดจากระดับ 36.8 ในเดือนม.ค. 2562 มาอยู่ที่ระดับ 36.2 ในเดือนก.พ. 2562 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมีวันหยุดยาวหลายช่วงโอกาส โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมถึงกิจกรรมที่ครัวเรือนวางแผนที่จะทำในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ (12-16 เม.ย. 2562) พบว่า ครัวเรือนไทย 1 ใน 3 ที่ทำการสำรวจวางแผนที่จะพักผ่อนอยู่กับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อีก 2 ใน 3 ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจวางแผนที่จะทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ กินเลี้ยง/สังสรรค์/ทำบุญ (ร้อยละ 17.7) กลับภูมิลำเนา (ร้อยละ 16.4) เล่นน้ำสงกรานต์ (ร้อยละ 15.8) หรือท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ (ร้อยละ 16.3) โดยครัวเรือนในเขตกรุงเทพและปริมณฑลคาดว่า จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 4,947 บาทโดยเฉลี่ย ขณะที่ครัวเรือนในพื้นที่ต่างจังหวัดคาดว่า จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 3,613 บาทโดยเฉลี่ย ทั้งนี้ จากผลการสำรวจจะเห็นได้ว่า ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ (2 ใน 3) ยังวางแผนที่จะใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่จะช่วยหนุนการบริโภคภาคเอกชนในช่วงไตรมาสที่ 2/2562
โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนก.พ. 2562 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากความกังวลที่ลดลงของครัวเรือนต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สินเป็นสำคัญ ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือนมี.ค.-พ.ค.) ก็ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากครัวเรือนมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำในระยะข้างหน้า ทั้งในส่วนของครัวเรือนเกษตรที่ราคาสินค้าเกษตรบางรายการปรับตัวดีขึ้นประกอบกับเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตของสินค้าเกษตรบางรายการสำคัญ และในส่วนของครัวเรือนลูกจ้างรายวันที่มีข่าวคราวการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2562 ในช่วงเดือนเม.ย.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยังมีหลายประเด็นที่ต้องติดตามในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสถานการณ์ภัยแล้งที่ในปีนี้มาเร็วและคาดว่าจะยาวนานกว่าปีก่อน ซึ่งอาจจะกระทบทั้งฝั่งครัวเรือนเกษตรในแง่รายได้จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย และฝั่งผู้บริโภคในแง่ราคาสินค้า โดนเฉพาะราคาอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562
Social Links