“คปภ.-กรมขนส่งฯ”เดินหน้าระบบเชื่อมข้อมูลดิจิทัล ตรวจสอบทำประกัน พ.ร.บ.เพื่อชำระภาษีรถประจำปี พร้อมบริการประชาชนด้านประกันภัยครบวงจร

“คปภ.-กรมขนส่งฯ”เดินหน้าระบบเชื่อมข้อมูลดิจิทัล ตรวจสอบทำประกัน พ.ร.บ.เพื่อชำระภาษีรถประจำปี พร้อมบริการประชาชนด้านประกันภัยครบวงจร

คปภ.-กรมขนส่งฯ”เดินหน้าระบบเชื่อมข้อมูลดิจิทัล

ตรวจสอบทำประกัน พ.ร.บ.เพื่อชำระภาษีรถประจำปี

พร้อมบริการประชาชนด้านประกันภัยครบวงจร

        ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) พร้อมด้วย นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวระบบการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อตรวจสอบการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับการชำระภาษีรถประจำปี ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) กับ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยมี นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้แทนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสื่อมวลชน ร่วมด้วย ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการทำบันทึกความร่วมมือ (MoU) ระหว่าง สำนักงาน คปภ. และ กรมการขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 เพื่อเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบเพื่อตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับและอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ให้กับประชาชนผู้ใช้บริการต่อภาษีรถมากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ซึ่งหลังจากนั้น ได้มีการเชื่อมระบบตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับสำหรับการชำระภาษีรถประจำปี ใน 2 ช่องทาง ได้แก่ ตู้รับชำระภาษีอัตโนมัติ “Kiosk” และแอปพลิเคชัน DLT “Vehicle Tax” รวมถึงแต่งตั้งคณะทำงานการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ ระหว่างกรมการขนส่งทางบกกับสำนักงาน คปภ. เพื่อติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน และต่อมาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพิ่มเติม โดยมีสมาคมประกันวินาศภัยไทยเข้าร่วมบูรณาการด้วย เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบในส่วนของการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับแบบครบวงจร โดยเป็นการพัฒนาระบบ Web Service ผ่านช่องทาง Leased Line ซึ่งเป็นรูปแบบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระหว่างกรมการขนส่งทางบกและสำนักงาน คปภ. มีการเข้ารหัสข้อมูล ทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัยและรวดเร็วในการค้นหาข้อมูลการทำประกันภัย ส่งผลให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และครบวงจร

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า “ระบบรายงานข้อมูลประกันภัยรถภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance System : CMIS)” เป็นระบบที่มีการรายงานการรับประกันภัยรถภาคบังคับผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทันทีหลังจากมีการรับประกันภัย (real time) โดยได้รับการพัฒนาขึ้นให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น ภายใต้ความมั่นคงปลอดภัยระดับสูง และมีการเชื่อมโยงผ่านระบบ CMIS ของสำนักงาน คปภ. กับระบบ e-Service ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลภายใต้ระบบรักษาความปลอดภัย 5 ระดับ ได้แก่ การยืนยันตัวตนด้วย (ใบรับรอง อิเล็กทรอนิกส์ : SSL Certification) การยืนยันด้วย (ที่อยู่ อิเล็กทรอนิกส์ : IP Address) การเข้ารหัสด้วย SSL มาตรฐานการเข้ารหัสการสื่อสารข้อมูลผ่านระบบเครือข่าย การเข้ารหัสด้วยใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ : Encryption Certification และระบบคุยกันผ่านช่องทางส่วนตัวเพื่อติดต่อกันระหว่าง 2 หน่วยงาน (Private Link) เพื่อให้มั่นใจในระบบดูแลความปลอดภัยไม่ให้ข้อมูลรั่วไหล

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะลดระยะเวลาการให้บริการประชาชนที่มาติดต่อดำเนินงานด้านทะเบียนและภาษีรถ รวมทั้งลดขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชนในการตรวจสอบการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ของประชาชนผู้ใช้บริการต่อภาษีรถประจำปี สอดรับกับนโนบายของกระทรวงคมนาคม และสอดคล้องกับการเป็นหน่วยงานรัฐดิจิทัลตามนโยบายรัฐบาล จึงได้บูรณาการร่วมกับ สำนักงาน คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดให้มีประกันภัยภาคบังคับ และตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของประกันภัยภาคบังคับที่เจ้าของรถหรือประชาชนต้องใช้เป็นหลักฐานประกอบในการชำระภาษีรถประจำปีผ่านระบบ เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดภาระในการจัดเก็บเอกสารกรมธรรม์ในรูปแบบกระดาษ ทั้งนี้จะใช้ระบบรายงานข้อมูลฯ เต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป โดยในระยะแรกจะดำเนินการคู่ขนานไปกับระบบปกติก่อน

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบเพื่อตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับดังกล่าว กรมการขนส่งทางบกและสำนักงาน คปภ. ได้พัฒนาระบบเสร็จสมบูรณ์ตลอดจนมีการเชื่อมโยงข้อมูลแล้วตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2565 ปัจจุบันได้ให้บริการตรวจสอบข้อมูลการรับประกันภัย พ.ร.บ. ไปแล้วกว่า 23 ล้านรายการ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 เมษายน 2566) จึงเป็นการยกระดับการให้บริการประชาชนโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนการให้บริการของ 2 หน่วยงานอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ได้จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. โดยที่ไม่ต้องแสดงหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. แบบกระดาษ เมื่อต่อภาษีรถประจำปีในทุกช่องทางของกรมการขนส่งทางบกอีกต่อไป

สำนักงาน คปภ. เชื่อมั่นว่าการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อตรวจสอบการทำประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับการชำระภาษีรถประจำปีจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้สามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้อย่างสะดวกและทั่วถึง และจะช่วยลดระยะเวลา ขั้นตอน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่ซื้อประกันภัย พ.ร.บ. ขณะเดียวกันก็จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้มีการทำประกันภัย พ.ร.บ. มากขึ้น เพราะหากไม่ทำก็จะไปต่อภาษีรถประจำปีไม่ได้ โดยสำนักงาน คปภ. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมขับเคลื่อนการทำงาน เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างเต็มที่” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

You may also like

เปิดตัวดัชนีชี้วัดความปลอดภัยของเด็ก บนโลกออนไลน์ทั้งในระดับชาติและระดับโลก

เปิดตัวด