“คปภ.-ประกัน”ถกเข้ม!รับมือมาตรฐานรายงานการเงินฉบับที่ 17

“คปภ.-ประกัน”ถกเข้ม!รับมือมาตรฐานรายงานการเงินฉบับที่ 17

           

 “คปภ.-ประกัน”ถกเข้ม!รับมือมาตรฐานรายงานการเงินฉบับที่ 17 

          สำนักงาน คปภ. เปิดเวที Board Forum 2019 ถกผู้บริหารบริษัทประกันชีวิต รับมือมาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 บูรณาการเตรียมพร้อมรับมือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบประกันภัยของไทยและคนไทย

            ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้จัดงานสัมมนากรรมการบริษัทประกันภัย ประจำปี 2562 (Board Forum 2019) ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเวทีในการสื่อสารทิศทางและนโยบายในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทย และสร้างความตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของคณะกรรมการบริษัทประกันภัย ในการร่วมกันกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (Corporate Governance) รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ อันแสดงถึงศักยภาพและความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยร่วมกัน ซึ่งปีนี้จัด 2 วัน คือ วันที่ 3 ธันวาคม 2562 เป็นเวทีสัมมนากรรมการบริษัทประกันชีวิต และวันที่ 17 ธันวาคม 2562 เป็นเวทีสัมมนากรรมการบริษัทประกันวินาศภัย ภายใต้หัวข้อ “IFRS 17 and the Roles of Board of Directors” ณ ห้อง Ballroom 3 ชั้น 4 โรงแรม Conrad Bangkok

            ทั้งนี้ ในการสัมมนากรรมการบริษัทประกันชีวิต เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา มีกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันชีวิตให้ความสนใจเข้าสัมมนาร่วมกับผู้บริหารของ สำนักงาน คปภ. กว่า 120 คน ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ได้ทำงานร่วมกับที่ปรึกษา บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินการบัญชีและธุรกิจประกันภัย

            เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบในเบื้องต้นจาก IFRS 17 ที่มีต่อธุรกิจประกันภัย โดยสรุปมี 3 ด้านหลัก ๆ คือ

            1. ด้านระบบและกระบวนการดำเนินงานของหน่วยงานหลัก เนื่องจาก IFRS 17 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวปฏิบัติทางบัญชีและการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยเป็นอย่างมาก ซึ่งในข้อกำหนดของมาตรฐานต้องการคำนวณข้อมูลที่มีความละเอียดมากยิ่งขึ้น บริษัทประกันชีวิต จำเป็นต้องยกระดับการเก็บข้อมูล การรักษาข้อมูล และการพัฒนาโมเดลการคำนวณที่มีพื้นฐานในการคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัยเพื่อหา Best Estimate Liabilities (BEL) , Risk Adjustment (RA) และ Contractual Service Margin (CSM)

            2. ด้านบุคลากรของธุรกิจประกันภัย โดยมาตรฐานฉบับใหม่นี้จะมีการสร้างโมเดล การคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งนักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะไม่เชี่ยวชาญในเรื่องของงบการเงิน ในขณะเดียวกันนักบัญชีก็ไม่สามารถอธิบายสมมุติฐานที่อยู่เบื้องหลังของตัวเลขในงบการเงินได้ ดังนั้นการสื่อสารและบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่แผนกการเงินการบัญชีและนักคณิตศาสตร์ประกันภัย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะภายใต้มาตรฐาน IFRS 17 กำไรและขาดทุนส่วนใหญ่มาจากการคำนวณของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการหาตัวเลขในงบการเงิน ส่วนนักบัญชีจะเป็นผู้รวมรวบข้อมูลทางการเงิน บริษัทประกันภัยจะต้องตัดสินใจว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนใด

            3. ด้านต้นทุน โดยมาตรฐาน IFRS 17 กำหนดให้บริษัทประกันภัยรวบรวมข้อมูลใหม่และเปลี่ยนแปลงระบบทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลและจัดทำรายงานทางการเงินตามข้อกำหนด  ดังนั้น การนำมาตรฐานฉบับนี้มาใช้ บริษัทประกันภัยต้องใช้เวลา ความพยายาม ต้นทุนด้านการเก็บข้อมูล (Data) และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT systems) ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ซึ่งต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจะแตกต่างกันในแต่ละบริษัทอีกด้วย

            ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันชีวิต จะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง และนโยบาย รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับมาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 ในเรื่องการปรับปรุงระบบงานและการพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญให้บริษัทสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังมีคณะทำงานฯ ที่จะติดตามประเด็น ปัญหา อุปสรรค และจะหาแนวทางแก้ไข เพื่อให้บริษัทสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานได้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมประกันภัยไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากลต่อไป

            ด้าน นางนุสรา อัสสกุล บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า การสัมมนาผ่านเวที Board Forum ในครั้งนี้ทำให้ผู้บริหารของบริษัทประกันชีวิตได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ยังเป็นเวทีที่สะท้อนให้เห็นว่า สำนักงาน คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย มีความเข้าใจและห่วงใยต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันภัยอย่างลึกซึ้ง อีกทั้ง สำนักงาน คปภ. ยังได้มีแนวคิดหาโซลูชั่นอื่นๆ มาเป็นตัวช่วยให้กับภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อให้ได้รับผลกระทบจาก IFRS 17 น้อยที่สุดอีกด้วย ทำให้ผู้ประกอบการไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในท่ามกลางกฎกติกาสากลด้านมาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 ที่จะถูกนำมาบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้น ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย จึงขอขอบคุณ สำนักงาน คปภ. เป็นอย่างมาก และจะร่วมมือกับ สำนักงาน คปภ. เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยตามมาตรฐานสากล

          “แม้ว่าการกำกับตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 (IFRS 17) จะไม่ใช่ภารกิจโดยตรงของ คปภ. แต่เมื่อมีผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัย สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลฯ จะบูรณาการเตรียมความพร้อมรับมือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย อย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบประกันภัยของไทย และคนไทย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

You may also like

คปภ.เดินหน้า! เปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านประกันภัย ประจำปี 2567 “Thailand Insurance Symposium 2024”

 นายชูฉั