คปภ. ยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในธุรกิจประกัน ติดเบรคพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายการฉ้อฉล

คปภ. ยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในธุรกิจประกัน ติดเบรคพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายการฉ้อฉล

คปภ. ยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในธุรกิจประกัน

ติดเบรคพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายการฉ้อฉล

                ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกประกาศ คปภ. เรื่อง ให้บริษัทประกันชีวิตยื่นรายงานเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย พ.ศ. 2563 และประกาศ คปภ. เรื่อง ให้บริษัทประกันวินาศภัยยื่นรายงานเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดให้บริษัทรายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย และรายงานพฤติกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย เพื่อให้สำนักงาน คปภ. มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบ พฤติกรรมและลักษณะของการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และสามารถกำหนดแนวทางในการยับยั้ง ป้องกัน ตรวจสอบ รายงาน และบรรเทาความเสียหายจากการฉ้อฉลประกันภัย อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ทั้งนี้ ประกาศ คปภ. ทั้งสองฉบับกำหนดให้ต้องมีการออกประกาศนายทะเบียน เพื่อกำหนดแบบรายงาน พฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัยด้วย

                สำนักงาน คปภ. จึงได้ดำเนินการยกร่างประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดแบบรายงาน พฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัย สำหรับบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. ….. และประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดแบบรายงาน พฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัย สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. ….. โดยได้นำร่างประกาศนายทะเบียนฯ ดังกล่าว เข้าที่ประชุมคณะทำงานเพื่อศึกษาและจัดทำหลักเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งมีผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้แก่ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน และสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย เป็นคณะทำงาน และได้นำร่างประกาศนายทะเบียนฯ ดังกล่าว ออกรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ภายหลังการปรับปรุงร่างประกาศนายทะเบียนฯ ตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของภาคธุรกิจประกันภัยต่าง ๆ ได้จัดประชุมคณะทำงานฯ อีกครั้ง จนได้ข้อยุติแล้ว ซึ่งต่อมานายทะเบียนได้ลงนามในประกาศทั้งสองฉบับ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 แล้ว

                เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สาระสำคัญของประกาศนายทะเบียนทั้งสองฉบับ คือ ประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดแบบรายงาน พฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัย สำหรับบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2564  และประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดแบบรายงาน พฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัย สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 มีดังนี้

                กำหนดกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้เอาประกันภัย หรือบุคลากรภายในบริษัท หรือตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย มีพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย โดยกำหนดให้บริษัทรายงานพฤติกรรมดังกล่าวต่อสำนักงาน คปภ. ภายในสามสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของแต่ละไตรมาส ซึ่งการส่งรายงานตามประกาศนี้ในครั้งแรกจะเริ่มให้บริษัทนำส่งภายในวันที่ 30 เมษายน 2564 ทั้งนี้ หากบริษัทพบพฤติกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประกันภัยหรือสาธารณชน บริษัทต้องรายงานต่อสำนักงาน คปภ. โดยไม่ชักช้า สำหรับช่องทางการรายงานนั้น สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย (Center of InsurTech Thailand: CIT) พัฒนาช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัยผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. โดยที่บริษัทไม่ต้องจัดทำแบบฟอร์มรายงานเป็นกระดาษเพื่อนำส่งต่อสำนักงาน คปภ. เพียงแค่กรอกข้อมูลการรายงานตามที่ประกาศนี้กำหนดบนเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. เท่านั้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดระยะเวลา ขั้นตอน และต้นทุนการจัดทำรายงานของบริษัทและความโปร่งใสในธูรกิจประกัน

                “จากสาระสำคัญของประกาศนายทะเบียนฯ ดังกล่าว จะช่วยป้องกันการทุจริตในระบบประกันภัยโดยทำให้การกำกับดูแลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากจะมีการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบ พฤติกรรม และลักษณะของการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัย โดยสำนักงาน คปภ. จะประสานกับภาคธุรกิจประกันภัยเพื่อสร้างบทบาทเชิงรุกในการกำกับดูแลการฉ้อฉลประกันภัยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการฉ้อฉลประกันภัย มิได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เบี้ยประกันภัยโดยรวมสูงขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย    ที่ใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งประกาศนายทะเบียนฯ ฉบับดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือช่วยป้องปรามและตรวจสอบการฉ้อฉลประกันภัยทุกรูปแบบ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

You may also like

เปิดตัวดัชนีชี้วัดความปลอดภัยของเด็ก บนโลกออนไลน์ทั้งในระดับชาติและระดับโลก

เปิดตัวด