“คมนาคม”ขานรับสั่งการ “นายกฯ”
เดินหน้าพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ 2.3 พันไร่
ผุด Smart Port ยกระดับเมือง
“คมนาคม” ขานรับข้อสั่งการ “นายกฯ“ ลุยพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) 2.3 พันไร่ หวังใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผุด Smart Port ยกระดับเมือง พร้อมสั่งการ “การท่าเรือฯ” ศึกษาแผนให้เหมาะสม คาดได้ข้อสรุปภายใน 1 ปี พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ถกวางแผนแนวทางการพัฒนา ด้าน “จุลพันธ์” ย้ำชัด! การพัฒนาท่าเรือคลองเตย ไม่เกี่ยวข้องกับ “เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์”
ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานฯ
“ตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) เพื่อใช้ประโยชน์ท่าเรือกรุงเทพ จำนวน 2,353.2 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการประชุมในวันนี้ ถือเป็นนัดแรก และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยได้มีการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินการ และภารกิจต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากที่สุด โดยจะมีการนำแผนเดิมที่การท่าเรือศึกษาไว้ มาทบทวนอีกครั้งด้วย”
สำหรับข้อเรียกร้องในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัดย่านคลองเตย จำนวน 26ชุมชนนั้น ซึ่งมีทั้งหมด 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ให้มีการแบ่งปันที่เดิน 20% ของที่ดินการท่าเรือฯ หรือกว่า 500 ไร่ โดยในปัจจุบัน กทท. ได้แบ่งพื้นที่สำหรับชุมชนไว้แล้วประมาณ 270 ไร่ แต่ยังต้องศึกษาถึงรายละเอียดต่างๆเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นก่อนที่จะนำมาซึ่งการพัฒนาต่อไปและ 2.ขอให้กระทรวงคมนาคม แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยมีสัดส่วนจากชุมชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งในส่วนนี้ได้ดำเนินการแล้ว และสัดส่วนในการจัดตั้งคณะทำงานนั้นมีความเหมาะสม เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด
ดร.มนพร กล่าวต่อว่า ในส่วนของแผนที่จะพัฒนาท่าเรือกรุงเทพนั้น จะออกมาในรูปแบบของ Smart Port (ท่าเรืออัจฉริยะ) เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือทางบก (Dry Port), โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษ สายบางนา-อาจณรงค์ (S1), โครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตกเป็นท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ, โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าท่าเรือกรุงเทพ และศูนย์การเชื่อมโยงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อเป็น Smart Community เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามทุกการพัฒนานั้น ยังคงต้องศึกษารายละเอียดอย่างชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการในแผน ซึ่งคาดว่า จะได้ข้อสรุป และมีความชัดเจนในอีกประมาณ 1 ปีนับจากนี้
ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จัดตั้งงบประมาณ เพื่อจัดจ้างที่ปรึกษา ดำเนินการพิจารณารายละเอียด พร้อมทั้งทบทวนแนวทางแบะแผนการการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) รวมถึงแนวทางการรื้อย้ายและเยียวยาให้กับชุมชนคลองเตยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันให้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการจราจรสิ่งและสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบท่าเรือกรุงเทพอย่างยั่งยืน และให้ทำความเข้าใจถึงการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบและการประชาสัมพันธ์
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยันว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ ไม่ได้มีการพิจารณาพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้เป็น “เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์” ซึ่งไม่ใช่เรื่องเดียวกัน และยังไม่ได้กำหนดพื้นที่ เนื่องจาก ยังคงต้องใช้เวลาศึกษาอีกระยะหนึ่ง หรือประมาณ 1-2 ปี จนกว่ากฎหมายจะแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งต่อไป
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 คณะ เพื่อให้การดำเนินการได้มารตรฐานในทุกด้าน ประกอบไปด้วย ตัวแทนกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้ที่อยู่ในชุมชน ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ โดยมีนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานอนุกรรมการ 2.คณะอนุกรรมการพิจารณาพัฒนาศักยภาพพื้นที่บริเวณชุมชนคลองเตย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในปัจจุบัน โดยมีนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานอนุกรรมการ 3.คณะอนุกรรมการจัดระเบียบด้านการจราจรและสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) อย่างยั่งยืน โดยมี นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เป็นประธานอนุกรรมการ และ 4.คณะอนุกรรมการด้านการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในท่าเรือกรุงเทพและการประชาสัมพันธ์ โดยมีนายกฤชนนท์ อัยยปัญญา โฆษกกระทรวงคมนาคม เป็นประธานอนุกรรมการ อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 คณะนั้น จะไปศึกษาในด้านต่างๆ เพื่อมาปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประโยชน์ และจะนำข้อสรุปต่างๆ มาเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อพิจารณาต่อไป
Social Links