ครม. ไฟเขียวตั้งคณะกรรมการฯ
แก้ไขปัญหาธุรกิจที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่
มุ่งสร้างระบบป้องกัน-ปราบปรามอย่างเป็นรูปธรรม
นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 มีมติเห็นชอบจัดตั้ง “คณะกรรมการบูรณาการการแก้ไขปัญหาธุรกิจที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่” เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาธุรกิจหลอกลวงอย่างเป็นระบบ
คณะกรรมการฯ ชุดนี้มี 11 คน โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย) เป็นประธาน และมีหัวหน้าหน่วยงานสำคัญร่วมเป็นกรรมการ เช่น อัยการสูงสุด ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการ ปปง. อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อธิบดี DSI และเลขาธิการ สคบ. ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการมีหน้าที่เสนอแนวทางเชิงนโยบาย ตลอดจนผลักดันการออกหรือปรับปรุงกฎหมาย เพื่อจัดการกับธุรกิจแชร์ลูกโซ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ แผนการทำงานแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
1.ระยะสั้น เน้นสร้างระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย สร้างกลไกการทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานและเปิดช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแส
2.ระยะยาว มุ่งลดจำนวนผู้เสียหาย สร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมออนไลน์ และยกระดับภาพลักษณ์ประเทศในสายตานักลงทุนต่างชาติ
นอกจากนี้ ยังวางกลยุทธ์หลักในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน และยกระดับมาตรฐานธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยตั้งเป้าหมายสำคัญ 5 ด้าน คือ
- พัฒนาระบบเฝ้าระวังธุรกิจขายตรงและแชร์ลูกโซ่อย่างมีประสิทธิภาพ
- เพิ่มความรู้แก่ผู้บริโภคให้แยกแยะธุรกิจถูกกฎหมายกับธุรกิจหลอกลวง
- สร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและการลงทุน
- สนับสนุนผู้ประกอบการสุจริตให้แข่งขันได้ในระดับสากล
- ส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วนให้การแก้ไขปัญหายั่งยืน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อเสริมศักยภาพการบังคับใช้กฎหมาย สืบสวน และติดตามทรัพย์สินจากผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว นางสาวจิราพรฯ ย้ำว่า “การป้องกันล่วงหน้า และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน คือหัวใจสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อปกป้องประชาชนจากภัยของธุรกิจที่ไม่สุจริตอย่างแท้จริง
Social Links