คว่ำบาตรรัสเซีย สะเทือนไกลไปถึงอวกาศ
ดร.กฤษฎา พรหมเวค
คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
สงครามในยูเครนไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างรัสเยกับโลกตะวันตกแต่เพียงอย่างเดียวหากแต่ยังส่งผลกระทบต่อความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศรัสเซีย (Государственная корпорация по космической деятельности «Роскосмос» – Roscosmos) กับประเทศต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักอีกด้วย
องค์การอวกาศรัสเซีย หรือ Roscosmos (รอสคอสมอส) เป็นองค์การของรัฐบาลที่รับผิดชอบกิจการด้านโครงการวิทยาศาสตร์และอวกาศของรัสเซีย รวมถึงการวิจัยด้านอวกาศยานโดยทั่วไป เกิดขึ้นภายหลังจากการสลายตัวของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1991 โดยมีต้นกำเนิดมาจากโครงการอวกาศของสหภาพโซเวียตที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1950 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงมอสโก ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย และยังมีสำนักงานตั้งอยู่อย่างครอบคลุมในเมืองต่าง ๆ ทั่วทั้งรัสเซียและภูมิภาคเอเชียกลาง ได้แก่ ศูนย์ควบคุมภารกิจการบินในอวกาศตั้งอยู่ที่เมือง “โคโรเลฟ” (Королёв) ศูนย์ฝึกอบรมนักบินอวกาศ (Cosmonauts Training Centre หรือ GCTC) ตั้งอยู่ที่เมืองซโวดดนึย (Звёздный หรือ Star city) ฐานปล่อยจรวดตั้งอยู่ที่ «Байконур» (Baikonur Cosmodrome) ซึ่งอยู่ในประเทศคาซัคสถาน
โครงการอวกาศรัสเซียเริ่มโด่งดังสุดๆ ตั้งแต่ส่งนาวาอาอากาศเอกยูริ กาการิน นักบินอวกาศขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อปี ค.ศ. 1961 หลังสามารถส่ง “สปุตนิก 1” ดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ 4 ปีก่อนหน้านั้น ซึ่งเรียกกันว่า “ ช่วงเวลา สปุตนิก” หรือ “ สปุตนิก โมเมนต์” (Sputnik moment) ความสำเร็จในครั้งนั้นยังเป็นความภาคภูมิใจของชาติอยู่จนถึงทุกวันนี้
ภายหลังจากที่นาซาส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศเองครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ.2011 ก่อนที่จะหันมาระงับโครงการ “กระสวยอวกาศ” ของตน ส่งผลทำให้นาซาหันมาใช้บริการการส่งนักบินอวกาศด้วยจรวด “โซยูซ” ของรัสเซีย รวมทั้งการที่ต้องส่งนักบินอวกาศไปฝึกและเรียนภาษารัสเซียก่อนขึ้นสู่อวกาศ ทำให้รัสเซียกลายเป็นผู้ผูกขาดด้านการส่งนักบินอวกาศและมีอิทธิพลสูงมากในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ ((International Space Station หรือ ไอเอสเอส) โดยรัสเซียมีรายได้มหาศาลจากการนำนักบินต่างชาติขึ้นสู่อวกาศ โดยนาซาต้องจ่ายถึง 80 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 2,400 ล้านบาท) ในการนำนักบินอวกาศของตน 1 คนขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดโซยูซ ของรัสเซีย
เมื่อประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินออกคำสั่งปฎิบัติการทางทหารเหนือยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมาส่งผลให้สำนักงานอวกาศยุโรป หรือ ESA ประกาศพักความร่วมมือกับ Roscosmos สำนักงานอวกาศของรัสเซีย เป็นการชั่วคราวในโครงการสำรวจดาวอังคารโดยใช้ยานสำรวจเอ็กโซมาร์ส ที่มีแผนจะสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร โดยจะส่งขึ้นสู่อวกาศไปกับจรวดของรัสเซียในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2022 นี้ และลงจอดบนดาวอังคารในอีก 8 เดือนต่อมา โดยใช้อุปกรณ์และเครื่องมือของรัสเซีย โดยให้เหตุผลว่าต้องปฏิบัติตามคำสั่งคว่ำบาตรของโลกตะวันตก เพื่อกดดันรัสเซียให้ยุติการบุกโจมตียูเครน
องค์การ “รอสคอสมอส” จึงตอบโต้กลับด้วยการประกาศระงับโครงการวิจัยทางด้านอวกาศร่วมกับประเทศทางยุโรปหลายประเทศดังนี้ ระงับโครงการวิจัยทางด้านอวกาศร่วมกับเยอรมนี รวมถึงการยกเลิกการปล่อยดาวเทียมสื่อสารให้กับบริษัท “OneWeb” ของสหราชอาณาจักร “ในนาทีสุดท้าย” ทั้งนี้ OneWeb เป็นบริษัทดาวเทียมที่มีรัฐบาลสหราชอาณาจักรร่วมเป็นเจ้าของด้วย ซึ่งได้ทำสัญญาไว้กับองค์กรรอสคอสมอสในการปล่อยดาวเทียมหลายดวงโดยใช้ยานอวกาศโซยุซ ภายหลังการคว่ำบาตรรัสเซียทำให้นายดิมิทรี โรโกซิน (Dmitry Rogozin) หัวหน้าหน่วยงานอวกาศรอสคอสมอส สั่งยุติการส่งดาวเทียมของ OneWeb ไปจนกว่าสหราชอาณาจักรจะขายกิจการจากบริษัท OneWeb และบริษัทจะต้องรับประกันว่ากลุ่มดาวเทียมจะไม่ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร โดยบริษัท “OneWeb” มีเป้าหมายการปล่อยดาวเทียมสื่อสารจำนวน 648 ดวง ทั้งนี้ได้ปล่อยเข้าสู่วงโคจรสำเร็จแล้วจำนวน 428 ดวง จนทำให้บริษัท “OneWeb” ต้องหันมาใช้บริการของบริษัทคู่แข่งอย่าง “บริษัท SpaceX” เพื่อให้ช่วยส่งดาวเทียมของพวกเขาขึ้นสู่วงโคจรได้ตามกำหนดการเดิม
นอกจากนี้องค์กรรอสคอสมอสยังได้ทำการถอนทีมงานทั้งหมดออกจากความร่วมมือกับองค์การอวกาศยุโรป (อีเอสเอ) ที่สถานีปล่อยจรวดในดินแดนเฟรนช์เกียนาของฝรั่งเศส และมีผลกระทบโดยตรงกับภารกิจ และยังมีการออกมาขู่ว่าจะดำเนินการตรวจสอบว่าสหรัฐฯ เคยไปเหยียบดวงจันทร์จริงหรือไม่อีกด้วย
นายดมิทรี โรโกซิน ยังกล่าวถึงการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกซึ่งมีต่อรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายเศรษฐกิจของรัสเซียและคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ “แต่จะไม่มีทางประสบความสำเร็จ” และพร้อมจะยุติความร่วมมือกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซา) ในด้านโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) สถานการณ์จะ “กลับคืนสู่สภาวะปกติ” ได้ต่อเมื่อ บรรดาประเทศตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดต่อรัสเซีย “อย่างไม่มีเงื่อนไข” เท่านั้น งานนี้เรียกได้ว่า “คว่ำบาตรรัสเซีย สะเทือนไกลไปถึงอวกาศ” กันเลยทีเดียว
Social Links