ในการประชุมกนง. วันที่ 12 มิ.ย. 2567 นี้ คาดกนง. ยังมีมติไม่เป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ต่อเนื่อง และมีแนวโน้มส่งสัญญาณไม่แตกต่างจากผลการประชุมรอบที่แล้ว
- กนง. ส่งสัญญาณในการประชุมรอบที่แล้วว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน และเพื่อรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (Policy Space) ในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า
- เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ การสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน การเข้าสู่สังคมสูงอายุและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งนโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพขยายตัวต่ำลง
- กนง. มีแนวโน้มให้น้ำหนักต่อเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงความผันผวนสูงของค่าเงินบาท จากตลาดที่มองว่าเฟดมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ากนง. มีแนวโน้มที่จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ไปตลอดทั้งปีนี้ แม้ว่าผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ ล่าสุดส่วนใหญ่มองมีโอกาสที่กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ากนง. คงจะรอให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายก่อน จากทิศทางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การเบิกจ่ายของภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น ประกอบกับการส่งออกที่มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวตามการค้าโลกและฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า แม้การส่งออกจะยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นจากทางภาครัฐ ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปของไทยมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายของกนง. ที่ 1-3% ภายในสิ้นปีนี้ ท่ามกลางแรงกดดันจากราคาพลังงานในตลาดโลกและราคาสินค้าเกษตรในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน แม้แรงกดดันเงินเฟ้อจากอุปสงค์จะยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ แรงกดดันค่าเงินบาทอ่อนค่าจากแนวโน้มการคงดอกเบี้ยสูงยาวนานกว่าคาดของเฟดเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนให้กนง. มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ไปตลอดทั้งปีนี้
Social Links