ค่ายบิ๊กเยอรมัน“มาห์เล”โหมรุก!
เดินหน้าขยายศูนย์วิจัยและพัฒนาในไทย
- ไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่สำคัญของมาห์เล ด้วยความพร้อมทั้งบุคลากรที่มีทักษะสูง ประวัติความเป็นมาอันยาวนานในอุตสาหกรรมยานยนต์ และทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์
- พื้นที่สำหรับการทดสอบจะมีขนาดใหญ่ขึ้นถึง 8 เท่าเมื่อเทียบกับศูนย์วิจัยและพัฒนาที่เปิดตัวเมื่อปี 2565 ส่วนพื้นที่สำนักงานจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าภายในปี 2569
- ปัจจุบัน ศูนย์วิศวกรรมมาห์เลประจำเอเชียทำหน้าที่เป็นศูนย์พัฒนาวิศวกรรมประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเน้นที่กลุ่มธุรกิจระบบกรองและอุปกรณ์เครื่องยนต์
- มีแผนปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน จากผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ให้ครอบคลุมยานยนต์ไฟฟ้าหลังปี 2568
มาห์เล (MAHLE) ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และพาร์ทเนอร์ชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาจากเมือง ชตุทท์การ์ท ประเทศเยอรมนี เดินหน้าขยายศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในจังหวัดสมุทรปราการ แผนขยายศูนย์วิจัยและพัฒนาในไทยครั้งนี้ ตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของประเทศไทยในภาคยานยนต์ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งนี้เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปี 2565 โดยมีพนักงาน 15 คน ในพื้นที่สำนักงาน 300 ตารางเมตร และพื้นที่ทดสอบ 500 ตารางเมตร มาห์เลมีแผนเพิ่มพื้นที่ทดสอบเป็น 4,000 ตารางเมตร และเพิ่มพื้นที่สำนักงานเป็น 1,200 ตารางเมตรภายในปี 2569 พร้อมกันนี้ยังมีแผนขยายขอบเขตงานสำหรับพนักงาน 40 คน จากผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) เช่น ระบบกรองและอุปกรณ์เครื่องยนต์ไปสู่โซลูชันที่ครอบคลุมนอกเหนือจากเครื่องยนต์สันดาปหลังจากปี 2568 การวางแผนกระจายการลงทุนและธุรกิจไปยังภาคส่วนยานยนต์ไฟฟ้านั้นสอดคล้องกับเทรนด์โลกในการทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสะดวกสบายมากขึ้น
ซึ่ง มร. ราล์ฟ เคมเลน (Ralf Kiemlen) หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของศูนย์วิศวกรรมมาห์เลประจำเอเชีย (MAHLE Engineering Center Asia) กล่าวว่า “การขยายธุรกิจและการปรับเปลี่ยนจุดโฟกัสครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของมาห์เลในการเร่งผลักดันกิจกรรมการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย ด้วยศักยภาพของบุคลากรที่มีทักษะและทุ่มเทของไทย”
ศูนย์วิศวกรรมเอเชียซึ่งตั้งอยู่ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งนี้ปัจจุบันมีพนักงาน 40 คน โดยมีศักยภาพในด้านวิศวกรรมการพัฒนา ระบบออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ (CAD) และมีห้องปฏิบัติการทดสอบที่ทันสมัย ให้บริการครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ศูนย์แห่งนี้จะขยายขีดความสามารถให้ครอบคลุมชุดระบายความร้อนน้ำมัน ชุดระบายความร้อนอะลูมิเนียม และชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับระบบจัดการความร้อน นอกจากนี้ มาห์เลยังมีแผนให้บริการพัฒนาชิ้นส่วนที่ผลิตจากพลาสติกบางส่วน และชิ้นส่วนอะลูมิเนียมแบบหล่อฉีดสำหรับระบบไฟฟ้าและเมคคาทรอนิกส์ด้วย การขยายขอบเขตการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่นี้สอดคล้องกับความพยายามของมาห์เล ในการเพิ่มความลากหลายของผลิตภัณฑ์และตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับระบบจัดการความร้อนขั้นสูงและโซลูชันไฟฟ้าในอุตสาหกรรมยานยนต์
“เราเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย ในการเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาสำหรับแบรนด์ระดับโลกของเรา” มร.ราล์ฟ เคมเลน หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของศูนย์วิศวกรรมมาห์เลประจำเอเชีย กล่าว “ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งยังมีวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญ และมีทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ ทำให้เหมาะสมอย่างยิ่งกับการเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อจัดส่งไปทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
มร.ยาสุฮิโระ คิโนชิตะ รองประธานกลุ่มธุรกิจระบบกรองและอุปกรณ์เครื่องยนต์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้เน้นย้ำความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของความเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า “การเปิดศูนย์วิศวกรรมเอเชียแห่งนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่สอดรับกับกลยุทธ์ MAHLE 2030+ ของเรา ซึ่งมุ่งเน้นใน 3 ด้านหลักด้วยกัน ได้แก่ ระบบไฟฟ้า การจัดการความร้อน และชิ้นส่วนสำหรับเครื่องยนต์สันดาปที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ความก้าวหน้าครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการผลักดันนวัตกรรมใหม่ ๆ และกำหนดทิศทางของการเดินทางขนส่งในอนาคต”
ดร.พรเทพ พรประภา ประธานกลุ่มบริษัทสยามกลการ ได้เยี่ยมชมศูนย์ฯ ในโอกาสเข้าร่วมพิธีเปิดการก่อสร้างเฟสถัดไป และได้กล่าวย้ำถึงผลพวงที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในวงกว้างว่า “นี่เป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เพราะเรากำลังก้าวไปไกลกว่าการเป็นแค่ฐานการผลิต วันนี้ เราเปิดโอกาสให้วิศวกรไทยได้มีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้งในกระบวนการออกแบบ ศูนย์วิศวกรรมแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นโชว์รูมที่จะสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าของเราในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะแสดงให้เห็นกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงการผลิต”
นอกจากศูนย์วิศวกรรมเอเชียแล้ว มาห์เลยังมีฐานการผลิตในประเทศไทยอีก 4 แห่ง มีพนักงานรวมประมาณ 1,500 คน โรงงานเหล่านี้ผลิตสินค้าหลากหลายประเภท ทั้งระบบเครื่องยนต์และส่วนประกอบ ระบบกรองและอุปกรณ์เครื่องยนต์
จากซ้ายไปขวา: มร. นาโอกิ อิชิฮาระ (Naoki Ishihara) มร. จาค็อบ รัมเลอร์ (Jakob Ruemmler) มร. ราล์ฟ เคมเลน และมร. ยาสุฮิโระ คิโนชิตะ (Yasuhiro Kinoshita)ร่วมฉลองการขยายศูนย์วิศวกรรมมาห์เลประจำเอเชียอย่างเป็นทางการ นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาในไทย
Social Links