ค้าปลีกปี’ 66 โตต่อเนื่อง ท่ามกลางมรสุมรอบด้าน

ค้าปลีกปี’ 66 โตต่อเนื่อง ท่ามกลางมรสุมรอบด้าน

ค้าปลีกปี’ 66 โตต่อเนื่อง ท่ามกลางมรสุมรอบด้าน

………………………………………..

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยอดขายค้าปลีกปี 2566 จะขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังอยู่บนความท้าทายรอบด้าน สอดคล้องไปกับทิศทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยในปี 2566 คาดว่า ตลาดอาจขยายตัวราว 2.8% – 3.6% (YoY) จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผลของราคาสินค้าบางรายการที่ยังคงปรับสูงขึ้นตามภาวะต้นทุน รวมถึงมาตรการช้อปดีมีคืนและการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเลือกตั้งที่น่าจะหนุนยอดขายค้าปลีกโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ธุรกิจจะสร้างยอดขายได้มากน้อยเพียงใด ยังคงต้องรอติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือนโยบายของภาครัฐหลังการเลือกตั้ง ขณะที่ ธุรกิจยังต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงขึ้นและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง

…………………………………………

แนวโน้มตลาดค้าปลีก ปี 2566 คงให้ภาพที่ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง แต่การดำเนินธุรกิจยังคงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ท่ามกลางค่าครองชีพและกำลังซื้อที่ยังคงกดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าตลาดค้าปลีกปี 2566 จะขยายตัวอยู่ที่ราว 2.8% – 3.6% ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัวราว 6.4% เนื่องจากผลของภาวะเงินเฟ้อ และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยการเติบโตในปี 2566 นอกจากผลของราคาสินค้าที่ยังมีอยู่ การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลของมาตรการช้อปดีมีคืน 40,000 บาท ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 และการใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้ง น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้ภาพรวมของตลาดค้าปลีกยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

ทั้งนี้ แรงหนุนจากมาตรการช้อปดีมีคืนที่อาจจะกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้บางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้เฉลี่ยตั้งแต่ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป และกิจกรรมการใช้จ่ายที่คงถูกกระตุ้นในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม น่าจะหนุนการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งแรกปี 2566 ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายหลังผ่านพ้นกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงต้องรอติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์ค่าครองชีพที่ยังสูง ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ส่งผลให้การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในปี 2566 แม้จะให้ภาพที่ขยายตัวต่อเนื่อง แต่คงเป็นไปด้วยความระมัดระวังและยังเผชิญกับโจทย์ท้าทายรอบด้าน ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกในแต่ละ Segment ที่แตกต่างกัน

                กลุ่มค้าปลีกที่คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี เมื่อเทียบกับค้าปลีก Segment อื่นๆ

  • ห้างสรรพสินค้า (Department store) และร้านสะดวกซื้อ (Convenience store) เป็น Segment ค้าปลีกที่คาดว่า จะยังคงฟื้นตัวได้ดีกว่าค้าปลีกในกลุ่มค้าปลีก Segment อื่นๆ หลังจากที่หดตัวสูงในช่วงปี 2563-2564 จากการระบาดของโควิด-19 โดยการฟื้นตัวดังกล่าวเป็นผลจากการทยอยกลับมาของลูกค้าหลักอย่างกลุ่มพนักงานออฟฟิศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้นภายหลังสถานการณ์โควิดในประเทศคลี่คลาย
  • ซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) โดยเฉพาะสาขาที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า คาดว่าจะยังคงขยายตัวใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากเป็น Segment ค้าปลีกที่เน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และส่วนใหญ่เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อปานกลางขึ้นบน ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่ยังมีศักยภาพในการใช้จ่ายของธุรกิจค้าปลีก

                กลุ่มค้าปลีกที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอลงจากฐานที่สูงในปี 2565

  • ค้าปลีกภูธร (Local brand) ที่ร่วมลงทุนโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ (หรือที่เรียกกันว่าค้าปลีกแถว 2) คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ที่น่าจะได้อานิสงส์จากการเลือกตั้งที่เม็ดเงินจะกระจายไปยังท้องถิ่นต่างๆ ในต่างจังหวัด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังคงมีแผนการขยายสาขาใหม่ภายใต้แบรนด์ของตนเอง และมีสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าในต่างจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแบรนด์รองหรือแบรนด์ราคาประหยัด อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอาจจะเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นกับผู้เล่นค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีการปรับ Model ของธุรกิจ โดยการหันไปเจาะตลาดต่างจังหวัดมากขึ้นเช่นกัน
  • ค้าปลีกออนไลน์ หรือ E-Commerce คาดว่าจะยังคงขยายตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลง หลังจากที่ได้เร่งตัวสูงด้วยอัตราเลข 2 หลักไปในช่วงโควิด-19 แล้ว นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้บริการ E-Commerce รายใหม่ น่าจะเริ่มอิ่มตัวหลังจากที่เข้ามาจำนวนมากแล้วก่อนหน้านี้ โดยสินค้าที่คาดว่าจะยังเติบโตได้น่าจะเป็นหมวดของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างพวกอาหาร (อาหารสด อาหารแห้ง) เครื่องดื่ม และของใช้ส่วนตัว ส่วนกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะยังคงเติบโตได้จำกัดเป็นหมวดแฟชั่น (เสื้อผ้า กระเป๋า) และความงาม เป็นต้น

                กลุ่มค้าปลีกที่คาดว่าจะเผชิญความยากลำบากในการแข่งขัน

  • ไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) หรือดิสเคาน์สโตร์ แม้ว่าจะได้อานิสงส์จากการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค แต่การดำเนินธุรกิจยังคงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อปานกลางลงมา อีกทั้งยังเผชิญการแข่งขันกับค้าปลีกภูธรที่พยายามปรับกลยุทธ์เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดรวมถึงเขตปริมณฑล ซึ่งมีจุดแข็งในเรื่องของสินค้าแบรนด์รองหรือแบรนด์ราคาประหยัด ส่งผลต่อการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
  • โชห่วย ยังคงเป็น Segment ค้าปลีกที่เผชิญกับความยากลำบากในการสร้างยอดขาย เนื่องจากต้องแข่งขันรุนแรงกับผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากสินค้าที่จำหน่ายไม่ได้แตกต่างกัน ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในระยะข้างหน้าเต็มไปด้วยความท้าทาย

           ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในปี 2566 ธุรกิจค้าปลีกยังคงเผชิญกับต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการแข่งขันที่ยังคงยากลำบาก โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่การบริโภคโดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

  • ต้นทุนที่สูงขึ้น แม้ว่าต้นทุนบางตัว เช่น ต้นทุนพลังงานจะย่อลงตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อาจปรับตัวลดลง แต่ผู้ประกอบการค้าปลีกก็ยังเผชิญกับต้นทุนอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่น ค่าแรงงาน ค่าไฟ เป็นต้น ในขณะที่ การปรับขึ้นราคาสินค้าให้สอดรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการที่เป็นสินค้าควบคุมอาจจะทำได้ไม่เต็มที่
  • การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จำนวนผู้ประกอบการค้าปลีกที่ยังคงเพิ่มขึ้น (ทั้งในแง่ของผู้เล่นรายใหม่และการขยายสาขาเพิ่มขึ้นของผู้เล่นรายเดิม) ท่ามกลางความแตกต่างของสินค้าและบริการของค้าปลีกในแต่ละ Segment ที่เริ่มน้อยลงหรือไม่แตกต่างกันมากนัก ขณะที่ การใช้จ่ายหรือการบริโภคของผู้บริโภคในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหรือมีนัยสำคัญ ผู้บริโภคมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์น้อยลง และมีทางเลือกมากขึ้น ส่งผลให้การแย่งชิงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีศักยภาพเริ่มจำกัดและแข่งขันกันรุนแรงขึ้น

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การเติบโตของค้าปลีกในปี 2566 หรือระยะสั้น (Short-term) น่าจะฟื้นตัวหรือเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศเป็นหลัก ภายใต้ความท้าทายในปัจจุบันที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนและการแข่งขัน ขณะที่ ระยะข้างหน้า รูปแบบของการทำธุรกิจค้าปลีกหรือ Landscape น่าจะเปลี่ยนแปลงไป ตามการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ อัตราการเกิดใหม่ของประชากรที่ลดลง เทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมและการดำเนินธุรกิจในอนาคต

  • ตลาดค้าปลีกในกรุงเทพฯ จะเริ่มแน่นและอิ่มตัว รวมถึงขยายตัวได้ยากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายเริ่มขยายแผนการลงทุนไปในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยทำการปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับพฤติกรรมของคนในต่างจังหวัด ทั้งในเรื่องของสินค้า และการให้บริการ ส่งผลให้ค้าปลีกภูธรน่าจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในอนาคต
  • การดำเนินธุรกิจค้าปลีกภายใต้การร่วมมือ (Partner) หรือร่วมลงทุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ตั้งแต่ผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ ระบบการเงินที่นอกจากจะอำนวยความสะดวกในเรื่องของระบบชำระเงินแล้ว ยังหมายถึงการช่วยคัดกรองหรือการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพหรืออยู่ในกลุ่ม Partner เดียวกัน ไปจนถึงระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการทำธุรกิจในยุค Omni-channel
  • ผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือกลุ่ม Modern trade จะมองหาโอกาสทางการตลาดในต่างประเทศในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ยังมีศักยภาพในการเติบโต เมื่อเทียบกับตลาดในประเทศที่การบริโภคเริ่มอิ่มตัว หรือไม่ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น

 

 

 

You may also like

มาสเตอร์การ์ดเปิดตัว Pay Local เพิ่มช่องทางผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลในเอเชีย รับชำระเงินจากผู้ถือบัตรมาสเตอร์การ์ดกว่า 2 พันล้านราย

มาสเตอร์