จับตา!วิกฤติค่าเงินตุรกี ระวังบานปลาย
…………………………………………………………………………………………………………………………………….
สถานะการเงินของประเทศตุรกีกำลังอยู่ในช่วงระส่ำระส่าย ท่ามกลางค่าเงิน Lira ที่ปรับร่วงลงอย่างมาก หลังนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจตุรกีที่กำลังเผชิญกับปัญหารอบด้าน ทั้งปัญหาเสถียรภาพของเศรษฐกิจที่เรื้อรัง ตลอดจน ความเสี่ยงจากปัจจัยการเมืองที่เข้ามากระทบ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้สถานการณ์ของค่าเงิน Lira ของตุรกีจะคลายตัวลง แต่ประเด็นปัญหาด้านเสถียรภาพยังคงมีอยู่ซึ่งอาจจะกระทบต่อค่าเงิน Lira ได้อีกในช่วงข้างหน้า ขณะที่หนี้ต่างประเทศของตุรกีที่อยู่ในระดับสูงอาจจะสร้างผลกระทบต่อภาคธนาคารของยุโรปได้
…………………………………………………………………………………………………………………………………………..
ในปี 2561 เป็นปีที่เศรษฐกิจตุรกีอาจจะเผชิญกับแรงกดดันที่มาจากรอบด้าน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจที่เข้ามารุมเร้า ทั้ง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ที่เร่งการไหลออกของเงินทุนตลอดจน กดดันให้ต้นทุนการกู้ยืมปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและการอ่อนค่าลงของเงิน Lira ที่ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อทะยานขึ้น ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าปัจจัยที่กระตุ้นให้ค่าเงิน Lira เผชิญกับวิกฤติรอบใหม่ นั้นมาจากปัจจัยการเมืองระหว่างตุรกีกับสหรัฐฯที่ตึงเครียดขึ้นอย่างมาก ทำให้มีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจจะดำเนินมาตรการกีดดันการค้าที่เข้มงวดขึ้นกับตุรกี อันส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจตุรกีหมดลง
ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจตุรกีมีความเปราะบางเป็นทุนเดิม
หากพิจารณาถึงสถานการณ์ของเศรษฐกิจตุรกีจะพบว่าเศรษฐกิจตุรกีนั้นเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจรอบด้าน ทั้งปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ตลอดจน ข้อจำกัดของการดำเนินนโยบายการเงิน โดยปัญหาเศรษฐกิจตุรกีที่สำคัญมีดังนี้
การขาดดุลแฝด (Twin Deficit) โดยตุรกีขาดดุลทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการคลังพร้อมกัน ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศตุรกีมีการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อนำไปผลิตสินค้าส่งออก ตลอดจน มีการนำเข้าน้ำมันค่อนข้างมาก ทำให้ดุลการค้าขาดดุลอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับขึ้น อันเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ดุลบัญชีเกินสะพัดขาดดุลในระดับสูง โดยตุรกีขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 5.6% ของจีดีพีในปี 2560 ในขณะเดียวกัน การปรับเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐฯ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งในเดือน มิถุนายน 2561 ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้ตุรกีมีการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น โดยขาดดุลเกือบ 3.0% ของจีดีพี
เศรษฐกิจของตุรกีพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากนอกประเทศในระดับสูง โดยเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในอดีตอันทำให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรง ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีการพึ่งพาเงินทุนจากนอกประเทศในสัดส่วนที่สูงและหากพิจารณาหนี้ต่างประเทศในภาพรวมที่มีขนาด 4.7 แสนล้านดอลลาร์ฯ หรือ 53.7% ของจีดีพี โดย 1 ใน 4 ของหนี้ดังกล่าวเป็นการกู้ยืมในระยะสั้น อันคิดเป็นมูลค่ากว่าแสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบหากนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนของการกู้ยืมตามประเภทของนักลงทุนพบว่ากว่า 2 ใน 3 ของปริมาณของหนี้ต่างประเทศคงค้างเป็นการกู้ยืมโดยภาคเอกชน โดยมีสัดส่วนการกู้ยืมโดยตรงของภาคธุรกิจ กับการกู้ยืมโดยสถาบันการเงินในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ในส่วนของการกู้ยืมของภาคเอกชนในตุรกีพบว่ากว่า 40% ของการกู้ยืมเป็นการกู้ในเงินสกุลต่างประเทศ อันเป็นการตอกย้ำถึงอัตราส่วนการพึงพาเงินทุนนอกประเทศที่อยู่ในระดับสูง
ต้นทุนการเงินของประเทศปรับขึ้นอย่างรวดเร็วและอยู่ในระดับสูง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น รวมทั้ง การไหลออกของเงินทุน ส่งผลให้ธนาคารกลางตุรกีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 8.0% ณ ต้นปี 2561 มาอยู่ที่ระดับ 17.75% ในวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับขึ้นเกือบเท่าตัวจากระดับประมาณ 11% ในช่วงต้นปีมาอยู่ที่ระดับเกือบ 22% ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ด้วยต้นทุนการเงินที่อยู่ในระดับสูง อาจจะส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจได้
ขณะที่เครื่องมือในการดูแลเศรษฐกิจของตุรกีมีจำกัดมากจากระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำที่ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 100% ซึ่งระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีไม่มาก ส่งผลให้ทางการไม่สามารถที่จะเข้ามาดูแลเสถียรภาพของค่าเงิน Lira
หากวิกฤติตุรกีลุกลามออกไป…ภาคธนาคารของยุโรปอาจได้รับผลกระทบ
แม้ว่าสถานการณ์ค่าเงิน Lira จะคลายตัวลง แต่ประเด็นด้านเสถียรภาพยังคงมีอยู่ทำให้ทางการตุรกีต้องเร่งแก้ปัญหาพื้นฐาน นั่นคือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก โดยเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางตุรกีอาจจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ซึ่งแม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวคงจะทำให้เศรษฐกิจตุรกีชะลอตัวลง แต่ก็น่าจะได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนมากกว่ามาตรการแทรกแซงตลาด เช่น การควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า ด้วยขนาดเศรษฐกิจของตุรกีที่มีขนาดประมาณ 8.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ หรือ คิดเป็น 1.1% ของเศรษฐกิจโลก โดยมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจของกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกสรวมกัน ทำให้ประเด็นเสถียรภาพของตุรกีย่อมจะมีน้ำหนักพอสมควรต่อสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
ทั้งนี้ หากตุรกีเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ อาจจะส่งผลต่อตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะภาคธนาคารของยุโรป เนื่องจากภาคธนาคารในยุโรปกับตุรกีมีความเชื่อมโยงกันในระดับค่อนข้างสูง โดยสเปน และฝรั่งเศสเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารพาณิชย์บางแห่งในตุรกี และมีความเกี่ยวเนื่องทางการเงินกับตุรกีในระดับสูง นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศในยูโรโซนที่ถือหุ้น หรือมีสาขาของธนาคารในตุรกี ซึ่งหากวิกฤติค่าเงิน Lira ลุกลามออกไปจนส่งผลให้ภาคธนาคารตุรกีเกิดวิกฤติ อาจจะส่งผลให้ภาคธนาคารในยูโรโซนอาจได้รับผลกระทบ ซึ่งคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
Social Links