จับทิศทางธุรกิจบริการดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย “การเงิน-ค้าปลีก-ค้าส่ง”ดันธุรกิจโต 8%

จับทิศทางธุรกิจบริการดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย “การเงิน-ค้าปลีก-ค้าส่ง”ดันธุรกิจโต 8%

จับทิศทางธุรกิจบริการดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย

“การเวงิน-ค้าปลีก-ค้าส่ง”ดันธุรกิจโต 8%

  • ตลาดบริการดาต้าเซ็นเตอร์ในปี 2568 คาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 43.3% ของตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ไทยโดยรวม ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจไทยมีแนวโน้มหันมาเลือกใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์แทนการลงทุนเอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเข้าถึง Solution AI สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลที่ผู้ให้บริการนำเสนอควบคู่กับการจัดเก็บข้อมูล
  • ในปี 2568 รายได้ธุรกิจบริการดาต้าเซ็นเตอร์ไทยคาดว่าจะขยายตัว 8% ตามความต้องการใช้งานที่มากขึ้นใน 3 ตลาดหลัก ได้แก่ ตลาดภาคการเงิน และตลาดภาคค้าส่ง-ค้าปลีก ที่ขยายตัวได้ดีตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใช้จ่ายออนไลน์มากขึ้น ในขณะที่ตลาดภาคบริการสุขภาพ จะขยายตัวตามกระแสรักสุขภาพและการเข้าสู่สังคมสูงอายุ

ธุรกิจบริการดาต้าเซ็นเตอร์ไทยกำลังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้รวมมีทิศทางเติบโตเฉลี่ย 12.6% ต่อปี ความต้องการบริการจัดเก็บข้อมูลในไทยส่วนใหญ่ราว 94% มาจากองค์กรธุรกิจเอกชน โดยเติบโตตามความเปลี่ยนแปลงในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจ ทั้งเพื่อการวางแผนและการเข้าถึงลูกค้า โดยเฉพาะในปัจจุบันที่หลายองค์กรธุรกิจไทยเริ่มทดลองและนำเทคโนโลยี AI มาใช้ ส่งผลให้ปริมาณข้อมูลที่ต้องประมวลผลและจัดเก็บขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มสูงขึ้น

องค์กรธุรกิจไทยเลือกใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์แทนการลงทุนเอง (รูปที่ 2)

ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก หันมาเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอกแทนการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์เอง ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรและเงินลงทุนสูง ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน  บุคคลากร และเทคโนโลยี สำหรับปี 2568 คาดว่าตลาดบริการดาต้าเซ็นเตอร์จะมีสัดส่วนสูงถึง 43.3% ของมูลค่าตลาดโดยรวม

นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจยังเลือกใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ เนื่องจากผู้ให้บริการในปัจจุบันมักเปิดให้บริการ Solution สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI ควบคู่ไปกับบริการจัดเก็บข้อมูล ทั้งนี้ ในปี 2567 องค์กรไทยกว่า 17.8% ได้นำ AI มาใช้แล้ว และอีกกว่า 73.3% มีแผนจะนำมาใช้ในอนาคต

 ภาพรวมรายได้ธุรกิจบริการดาต้าเซ็นเตอร์ไทยในปี 2568 คาดว่าจะเติบโต 8% (รูปที่ 3)

รายได้รวมธุรกิจบริการดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยราว 72% มาจาก 3 ตลาดหลัก ได้แก่ ภาคการเงินที่มีสัดส่วนตลาดสูงสุดราว 27% รองลงมาคือ ภาคค้าส่งและค้าปลีก 25% และภาคบริการสุขภาพ 20% (รูปที่ 4)

รายได้ธุรกิจบริการดาต้าเซ็นเตอร์ยังคงเติบโตได้ดีในปี 2568 โดยได้แรงหนุนหลักจากภาคการเงิน และภาคค้าส่ง-ค้าปลีกที่ขยายตัวต่อเนื่องตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้จ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคบริการสุขภาพเติบโตตามกระแสรักสุขภาพและการเข้าสู่สังคมสูงอายุ

รายได้ตลาดภาคการเงินคาดว่าจะขยายตัว 8.1% ในปี 2568 (รูปที่ 5)

ธุรกิจบริการดาต้าเซ็นเตอร์สำหรับภาคการเงิน มีแนวโน้มเติบโตตามความต้องการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลของธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบชำระเงินสมัยใหม่ ได้แก่ PromptPay  และ e-Wallet  ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันมากกว่า 90% ของจำนวนธุรกรรมชำระเงินของไทยในปัจจุบัน (รูปที่ 6) และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในปี 2568 จำนวนธุรกรรมโดยรวมผ่านระบบชำระเงินทั้งสองดังกล่าว คาดว่าจะเติบโตราว 13.6%

นอกจากนี้ การเข้ามามีบทบาทในการตรวจพิสูจน์บุคคลของ AI ผ่านการแสกนใบหน้า ทำให้ความต้องการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์จากภาคการเงินขยายตัว เพื่อจัดเก็บข้อมูลภาพใบหน้าสำหรับยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรม

รายได้ตลาดภาคค้าส่งและค้าปลีกคาดว่าจะขยายตัว 9.0% ในปี 2568 (รูปที่ 7)

ธุรกิจบริการดาต้าเซ็นเตอร์สำหรับภาคค้าส่งและค้าปลีก มีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของโมเดิร์นเทรดและอีคอมเมิร์ซ ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.8% และไม่น้อยกว่า 8% ในปี 2568 ทำให้ความต้องการใช้งานบริการดาต้าเซ็นเตอร์เป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่มีปริมาณการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นสูงในระยะเวลาอันสั้น เช่น เทศกาลวันหยุดหรือแคมเปญลดราคาครั้งใหญ่  เพราะบริการดังกล่าวมีความยืดหยุ่นในการเพิ่มพื้นที่จัดเก็บตามความต้องการได้ทันที

การนำ AI มาช่วยในระบบแนะนำสินค้าสำหรับภาคค้าส่ง-ค้าปลีก ถือเป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมการเติบโตของความต้องการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์ เนื่องจากธุรกิจจำเป็นต้องจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้สามารถทำกลยุทธ์การตลาดได้เฉพาะเจาะจงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น

รายได้ตลาดภาคบริการสุขภาพคาดว่าจะขยายตัว 5.1% ในปี 2568 (รูปที่ 8)

ธุรกิจบริการดาต้าเซ็นเตอร์สำหรับภาคบริการสุขภาพ มีแนวโน้มเติบโตตามความต้องการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลผู้ป่วย ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากจำนวนผู้ป่วยคนไทยที่มีทิศทางเติบโตราว 7.4% ต่อปี หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 (รูปที่ 9) ตามกระแสรักสุขภาพ และการเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทย รวมถึงผู้ป่วยชาวต่างชาติ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราว 5%  ในปี 2568 โดยเฉพาะกลุ่ม Medical Tourism ที่ยังเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในไทยต่อเนื่อง

นอกจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น เทคโนโลยี AI เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งที่ทำให้ความต้องการดาต้าเซ็นเตอร์จากภาคบริการสุขภาพขยายตัว เช่น AI Chatbot  ที่ต้องเก็บข้อมูลบทสนทนาและสุขภาพเพื่อการวินิจฉัยและติดตามผล เป็นต้น ส่งผลให้ปริมาณข้อมูลที่ต้องจัดเก็บเพิ่มขึ้น

ความเสี่ยงของธุรกิจบริการดาต้าเซ็นเตอร์ไทยในระยะกลางถึงยาว

  • การบังคับใช้ พ.ร.บ. Climate Change อาจกดดันให้ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ต้องหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เนื่องจากดาต้าเซ็นเตอร์ใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาลในการประมวลผลข้อมูล โดยดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่อาจใช้พลังงานไฟฟ้าเทียบเท่ากับหลายแสนครัวเรือนต่อปี ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะอยู่ในระดับสูงหากต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ
  • การแข่งขันของตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคทวีความรุนแรงขึ้น โดยผู้ให้บริการไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจากประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ครอบคลุมทั้งภูมิภาคอาเซียน
  • ปัญหาขาดแคลนแรงงานดิจิทัลขั้นสูงเป็นความท้าทายต่อธุรกิจบริการดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่ไทยยังผลิตบุคลากรเหล่านี้ไม่เพียงพอ สะท้อนจากการที่ผู้ลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ข้ามชาติริเริ่มโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับบุคลากรไทย เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานที่ยังสูงกว่าที่มีในตลาด
  • เทคโนโลยีด้านวิเคราะห์ข้อมูลโดยเฉพาะ AI และอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไว ทำให้ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์มีความจำเป็นต้องติดตามและลงทุนเพิ่มเติมเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการอยู่เสมอ
  • การลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ต้องพิจารณาถึง Internet Bandwidth ที่สามารถรองรับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของปริมาณข้อมูลที่ต้องเชื่อมต่อเข้ามาจัดเก็บในอนาคต ทำให้สถานที่ตั้งของดาต้าเซ็นเตอร์ต้องอยู่ใกล้ชุมสายอินเทอร์เน็ต

You may also like

“ซีพี แอ็กซ์ตร้า” ผนึก “กรมทางหลวง” เปิด 50 จุดบริการน้ำดื่ม-ผ้าเย็น เติมความสดชื่น บนเส้นทางหลักทั่วไทย

“ซีพี แอ