จับสัญญานโลกฟื้น ดันส่งออก 64 พุ่ง 4.5%
………………………………………………………………………………………………..
• การเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวอานิสงส์ต่อภาพรวมการส่งออกของไทยปี 2564 กลับมาเติบโตสดใสร้อยละ 4.5 (กรอบประมาณการที่ร้อยละ 3.5-5.5) ซึ่งการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และจีนกลับมาเติบโตดีกว่าตลาดอื่นๆ ขณะที่การส่งออกสินค้าในภาพรวมก็ดีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นหัวใจสำคัญของกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามวิถีใหม่ (New Normal) อาทิ สินค้า IT ถุงมือยาง สามารถเติบโตได้ต่อจากปีก่อน สินค้าที่ตอบโจทย์การบริโภคทั้งสินค้าจำเป็นและสินค้าคงทนต่างก็กลับมาขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของกำลังซื้อ รวมทั้งแรงหนุนด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำให้การส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องอย่างน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติกเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการส่งออกในปีนี้ได้อีกทางหนึ่ง
• สัญญาณบวกดังกล่าวอาจเป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ในระยะสั้น เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกของไทยในปัจจุบันอาจไม่เอื้อให้สินค้าไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะต่อไป ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของไทยราวร้อยละ 40 ล้วนพึ่งพานักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่าง ICs ไดโอดและ HDDs ที่เป็นสินค้าสร้างรายได้ของไทยในขณะนี้กำลังสูญเสียความได้เปรียบในการผลิตยิ่งท้าทายโอกาสเปิดรับเม็ดเงินลงทุนใหม่เพื่อขับเคลื่อนการส่งออกในระยะข้างหน้า จึงกลับมาสู่โจทย์สำคัญในการยกระดับการผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยกระดับทั้งโครงสร้างการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีสูงเพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ก็ยังเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำต่อไป
……………………………………………………………………………………..
ตัวเลขการส่งออกล่าสุดของไทยในเดือนมกราคม 2564 แม้จะเติบโตเพียงร้อยละ 0.3 (YoY) แต่เมื่อหักทองคำออกยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 6.3 (YoY) สะท้อนภาพบวกของการฟื้นตัวของตลาดคู่ค้าไทยในปีนี้ สอดคล้องกับที่ IMF ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 (มกราคม 2564) เป็นขยายตัวร้อยละ 5.5 (จากเดิมร้อยละ 5.2) โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ได้แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจนขยับคาดการณ์เป็นร้อยละ 5.1 (จากร้อยละ 3.1) รวมทั้งการกลับมาเร่งตัวของเศรษฐกิจจีนคาดว่าเติบโตอย่างโดดเด่นร้อยละ 8.1 ตลอดจนแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ในฝั่งยุโรป ล้วนปลดล็อคข้อจำกัดทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง ด้วยภาพบวกดังกล่าวของเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นกลับมาได้มากขึ้นในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2564 ก็จะกลับมาสดใสได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
มิติของตลาด: ทุกตลาดกลับมาสดใสผ่านพ้นจุดต่ำสุด และอานิสงส์จากฐานต่ำจึงกลับมาเร่งตัวดี จากการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้ามาช่วยคลี่คลายข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ประกอบกับทั่วโลกเริ่มคุ้นชินกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ส่งผลบวกให้แต่ละตลาดฟื้นตัวดีขึ้น
– กลุ่มตลาดที่คาดว่าจะเติบโตเป็นบวกต่อเนื่องในปีนี้ และเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสหรัฐฯและจีนเป็นเพียง 2 ตลาดหลักของไทย ที่การส่งออกของไทยในปี 2563 สามารถฝ่าวิกฤตโควิด-19 เติบโตได้ที่ร้อยละ 9.6 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ ทั้งยังคงความแข็งแกร่งเป็นแกนนำการส่งออกของไทยในปี 2564 ด้วยตัวเลขเดือนมกราคมเติบโตร้อยละ 12.4 และร้อยละ 9.8 ด้วยเช่นกัน ด้วยจุดแข็งที่ต่างก็เป็นทั้งผู้บริโภคและแหล่งผลิตสินค้าเทคโนโลยี (IT) ของโลก ประกอบกับโควิด-19 ได้กระตุ้นให้ทั่วโลกเร่งปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทั้งสองตลาดจึงเป็นส่วนสำคัญที่เติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านยุคดิจิทัลของโลก
– กลุ่มตลาดที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ในปี 2564 การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นได้อานิสงส์จากการจัดการแข่งขันโอลิมปิค 2020 ที่ก็น่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้จากหลายภาคส่วน ตลาดสหภาพยุโรปต้องยอมรับว่ามีความเปราะบางทางเศรษฐกิจกว่าภูมิภาคอื่นจึงฟื้นตัวล่าช้า อีกทั้งตลาดนี้ส่วนใหญ่ไทยส่งสินค้าฟุ่มเฟือยไปจำหน่าย ทำให้การกลับมาเติบโตก็คงเลื่อนไปตามการบริโภค ขณะที่ตลาดอาเซียน ถ้าเทียบกับปี 2563 เป็นตลาดที่หดตัวรุนแรงที่สุดร้อยละ 11.7 การขยับมาดีขึ้นในปีนี้อาจไม่ดีเท่าตลาดอื่นๆ แต่ก็เป็นสัญญาณฟื้นตัวล่าช้าด้วยปัจจัยเฉพาะจากการผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งน้ำมันและทองคำเป็นหลัก แต่กำลังซื้อในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นปัญหาการเมืองในเมียนมาอาจไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกและการลงทุนของไทยมากนัก รวมทั้งตลาดตะวันออกกลางที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด-19 และรายได้จากน้ำมันเริ่มกลับมาตามราคาที่เพิ่มขึ้น จึงน่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยก็ได้อานิสงส์ตามมา
มิติของสินค้า: การส่งออกสินค้าส่วนใหญ่กลับมาเติบโต ตามกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัวกลับมาเป็นตัวเสริมให้ทุกสินค้าไปได้ดีในปี 2564
– กลุ่มสินค้าที่ในปี 2563 ยังโตสวนกระแสโควิด-19 และยังไปได้ดีในปีนี้ ประกอบด้วย 1) สินค้าตอบโจทย์การบริโภควิถีใหม่ (New Normal) ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ใช้ต่อสู้กับโควิด-19 อาทิ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (เพื่อทำแอลกอฮอล์) ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยส่วนบุคคล สินค้าเหล่านี้ยังไปได้ดีต่อเนื่องตามพฤติกรรมการบริโภคที่ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 และโดยเฉพาะสินค้าเกาะกระแส IT ยังไปได้ดีต่อเนื่องจากอานิสงส์ของการเกิดโควิด-19 ผลักดันให้ทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างรวดเร็ว เร่งความต้องการสินค้าเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมลดการสัมผัสและกิจกรรม Work From Home อาทิ ICs ไดโอด ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์โทรศัพท์ 2) สินค้าอาหารแปรรูปของไทยมีศักยภาพอยู่แล้วจึงเติบโตดีขึ้น แต่ในส่วนของอาหารกระป๋องอาจชะลอตัวจากปีก่อนเนื่องจากปีนี้โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ผู้บริโภคจึงไม่จำเป็นต้องกักตุนอาหาร
– กลุ่มสินค้ากลับมาเติบโตรับตลาดโลกฟื้นตัว ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ถูกเลื่อนการบริโภคออกไปก่อน จึงหดตัวค่อนข้างมากในปี 2563 ดังนั้นฐานที่ต่ำก็มีส่วนหนุนให้การส่งออกกลับมาเติบโตพร้อมๆ กับการบริโภคและรายได้ที่ทยอยฟื้นกลับมา ได้แก่ 1) สินค้าคงทน เครื่องจักรกลสำหรับภาคอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า โดยเฉพาะรถยนต์และส่วนประกอบที่หดตัวแรงในปี 2563 ที่ทั่วโลกตกอยู่ในภาวะ Lockdown อยู่หลายครั้ง 2) สินค้าโภคภัณฑ์ที่กลับมาเติบโตในปีนี้สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันในปี 2564 มีสัญญาณฟื้นตัวจากปีก่อนที่ปรับตัวสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 18 ปี อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เหล็ก เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก
แนวโน้มในระยะต่อไปการส่งออกของไทยยังคงต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน ซึ่งการฟื้นตัวของการส่งออกในปีนี้อาจเป็นเพียงปรากฏการณ์ในระยะสั้น ซึ่งการส่งออกที่ฟื้นกลับมายังมีระดับต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด-19 อีกทั้งการเร่งตัวดังกล่าวเป็นการเติบโตที่มาจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว บวกกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้น แม้จะได้อานิสงส์จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้สินค้า IT ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยเติบโตอย่างน่าสนใจ แต่การเติบโตดังกล่าวอาจไม่สามารถขับเคลื่อนการส่งออกของไทยได้อย่างยั่งยืน
– โครงสร้างการส่งออกของไทยในปัจจุบันยังคงตอบโจทย์ความต้องการของตลาด แต่อาจไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ถ้าหากไม่มีเม็ดเงินลงทุนใหม่มาเพิ่มเติมหรือนักลงทุนเดิมยังคงย้ายฐานการผลิตออกไปจากไทย เนื่องจากโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติราวร้อยละ 40 ทำให้ไทยผลิตและส่งออกสินค้าสำคัญสร้างรายได้อย่างยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ICs ไดโอด ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDDs)) ซึ่งสินค้าเหล่านี้ยังอยู่ในกระแสเทคโนโลยียุคปัจจุบันและไทยยังอยู่ในแผนการผลิตของนักลงทุนโลก แต่ในบรรดาสินค้าดังกล่าว สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อาจช่วยขับเคลื่อนการค้าในภาพรวมของไทยได้อีกไม่นาน เนื่องจากเป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลางที่ก็มีอีกหลายประเทศในเอเชียผลิตได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย เวียดนาม ทุกวันนี้สินค้าไทยก็ต้องแข่งขันสูงอยู่แล้ว แต่เมื่อเผชิญกับโจทย์เงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2540 การแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตเพื่อให้คุ้มค่าในการลงทุน เวียดนามก็กลายมาเป็นเป้าหมายใหม่ของนักลงทุนในธุรกิจ IT และยังมีความได้เปรียบจากค่าเงินดองที่เอื้อต่อการส่งออก
– นอกจากนี้ ค่าเงินบาทผันผวนในช่วงที่ผ่านมาท้าทายการส่งออกไทยมาโดยตลอด และยิ่งกดดันให้สินค้าไทยที่พึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะสินค้า IT แข่งขันยากขึ้นไปอีก โดยค่าเงินบาทผันผวนในทิศทางแข็งค่าที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน โดยแข็งค่ามากว่าร้อยละ 30 นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ประกอบกับภาพเศรษฐกิจโลกที่ทยอยดีขึ้นก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินบาทอาจแข็งค่าได้อีก เมื่อบวกกับต้นทุนการผลิตและค่าจ้างแรงงานไทยที่เสียเปรียบประเทศอื่นในอาเซียน ก็คงยากที่นักลงทุนจะเลือกไทยเป็นแหล่งขยายการลงทุนเพื่อการส่งออกในระยะต่อไป
โดยสรุป ตัวเลขส่งออกที่น่าจะกลับมาสดใสในปีนี้อาจสร้างได้แค่ความอุ่นใจในระยะสั้น เพราะส่วนใหญ่ได้อานิสงส์จากฐานที่ต่ำและเป็นจังหวะที่สินค้าไทยยังสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกในเวลานี้ได้จึงทำให้ภาพการส่งออกของไทยในปี 2564 กลับมาเติบโตได้ที่ราวร้อยละ 4.5 (กรอบประมาณการร้อยละ 3.5-5.5) แต่โจทย์หลักของไทยคงต้องเร่งสร้างความยั่งยืนจากการส่งออกสินค้าที่มาจากรากฐานการผลิตที่เป็นของไทยเอง นอกเหนือจากการพึ่งพานักลงทุนต่างชาติดังเช่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าที่นับเป็นจุดเด่นสำคัญของไทยอย่างสินค้าเกษตร (ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง) อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ที่ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูง ซึ่งการต่อยอดการผลิตสินค้าเดิมให้กลายเป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งการยกระดับการผลิตไทยไปสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดได้จริงก็จะยิ่งทำให้ไทยเป็นแหล่งรับการลงทุนจากต่างชาติในสินค้าที่เหนือชั้นกว่าคู่แข่ง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ควรหันมาให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนเพื่อที่จะขับเคลื่อนการส่งออกของไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างแท้จริง
Social Links