จีนชี้”หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” สามารถแบ่งปันประโยชน์การพัฒนาให้กับทั่วโลก ชูแบงก์โลกระบุช่วยเพิ่มรายได้ 0.9%-2.9%

จีนชี้”หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” สามารถแบ่งปันประโยชน์การพัฒนาให้กับทั่วโลก ชูแบงก์โลกระบุช่วยเพิ่มรายได้ 0.9%-2.9%

จีนชี้”หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

สามารถแบ่งปันประโยชน์การพัฒนาให้กับทั่วโลก

ชูแบงก์โลกระบุช่วยเพิ่มรายได้ 0.9%-2.9%

  นับเป็นเวลาสิบปีแล้วที่จีนได้นำเสนอข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาของประเทศสมาชิกและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกผ่านความร่วมมือและการเชื่อมโยงกัน

กระทรวงการต่างประเทศจีนเปิดเผยว่า เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ตลอดจนวางแผนสร้างความร่วมมือกับประเทศสมาชิกทั้งหมด จีนได้ตัดสินใจจัดการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation) ครั้งที่ 3 ในเดือนตุลาคมนี้

ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางริเริ่มโดยจีนในปี 2556 โดยอ้างอิงจากแนวคิดของแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม (Silk Road Economic Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (21st-century Maritime Silk Road) สำหรับวัตถุประสงค์คือการสร้างเครือข่ายการค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงเอเชียกับยุโรปและแอฟริกา และนอกเหนือไปจากเส้นทางสายไหมโบราณ

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้พัฒนาจนกลายเป็นสินค้าสาธารณะที่มีความสำคัญในระดับโลก และจีนกำลังแบ่งปันประโยชน์ของการพัฒนาให้แก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

“สารแสดงไมตรีจิต”

คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ซึ่งเป็นหน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือมากกว่า 200 ฉบับภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางร่วมกับ 152 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 32 องค์กร ซึ่งครอบคลุม 83% ของประเทศที่จีนมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต

ตัวเลขดังกล่าวได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับจีนและประเทศที่เข้าร่วม

โครงการท่าเรือกวาดาร์ (Gwadar Port) ในปากีสถาน ซึ่งเคยหยุดชะงักมานาน กำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคที่เป็นประโยชน์ต่อปากีสถาน อัฟกานิสถาน และเอเชียกลาง หลังจากที่บริษัทจากจีนได้เข้ามาลงทุน

ท่าเรือกวาดาร์ถือเป็นพื้นที่พัฒนาที่สำคัญของระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเรือธงภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ท่าเรือกวาดาร์รองรับสินค้ามากกว่า 600,000 ตันในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังมีวิสาหกิจมากกว่า 30 แห่งในส่วนของคลังสินค้าต่างประเทศ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง การแปรรูปน้ำมันบริโภค การผลิตเฟอร์นิเจอร์ การประกอบรถยนต์ไฟฟ้า การค้า และโลจิสติกส์ ที่เข้ามาลงหลักปักฐานในเขตปลอดอากรเฟสแรกของท่าเรือกวาดาร์

“ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเปรียบเสมือนสารแสดงไมตรีจิตจากจีนถึงประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ โดยช่วยให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้เรียนรู้จากจีน และคว้าโอกาสจากการที่จีนแบ่งปันประโยชน์ของการพัฒนาให้แก่นานาประเทศ” คุณแอดเฮียร์ คาวินซ์ (Adhere Cavince) นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากเคนยา กล่าว

“ผู้พลิกเกมบนเวทีโลก”

ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งริเริ่มขึ้นเพื่อเป็นเวทีใหม่สำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้ทำหน้าที่เป็นแรงผลักดันที่แข็งแกร่งในการบรรเทาความยากจน สนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค และส่งเสริมความก้าวหน้าของเศรษฐกิจใหม่

ข้อมูลอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่า โครงการความร่วมมือ 3,000 โครงการภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้ก่อให้เกิดการสร้างงานราว 420,000 ตำแหน่ง ซึ่งช่วยให้ประชาชนเกือบ 40 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน

ขณะเดียวกัน ธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า ภายในปี 2573 หากโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ที่แท้จริงทั่วโลกราว 0.7%-2.9% ซึ่งจะช่วยให้ประชาชน 7.6 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนขั้นรุนแรง และอีก 32 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนปานกลาง

นอกจากนี้ ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางยังช่วยให้การเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานระหว่างภูมิภาคและทวีปต่าง ๆ มีความก้าวหน้ามากขึ้น

 รถไฟความเร็วสูงจีน-ยุโรป เข้าถึง 211 เมือง ใน 25 ประเทศทั่วยุโรป ขณะที่ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor) ได้เชื่อมภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนกับท่าเรือมากกว่า 300 แห่ง ในกว่า 100 ประเทศ

ขณะเดียวกัน สมาชิกของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภาคส่วนใหม่ ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล โดยโครงการเส้นทางสายไหมดิจิทัล (Digital Silk Road) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง กำลังพัฒนาเป็นสะพานดิจิทัลที่ส่งเสริมโลกาภิวัตน์รูปแบบใหม่

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นผู้พลิกเกมบนเวทีโลก โดยนำระบบพหุภาคีมาสู่โลกมากกว่าที่เคย และยังสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยมากขึ้นสำหรับประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้ทิศทางของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” คุณบอริส ทาบิก (Boris Tabic) อดีตประธานาธิบดีเซอร์เบีย ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น (CGTN)

You may also like

เปิดตัวดัชนีชี้วัดความปลอดภัยของเด็ก บนโลกออนไลน์ทั้งในระดับชาติและระดับโลก

เปิดตัวด