จีนเชื่อมั่น“เมล็ดพันธุ์”
เป็นเรื่องของความมั่นคงระดับชาติ
เฉิน ชิงซาน (Chen Qingshan) และทีมงานมีภารกิจสำคัญเร่งด่วน นั่นคือหาวิธีเร่งการเพาะพันธุ์ถั่วเหลืองใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้จีนสามารถพึ่งพาตนเองในการปลูกถั่วเหลืองได้
“ถั่วเหลืองเป็นจุดอ่อนของจีน” เฉิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์ถั่วเหลืองและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรกรรมตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast Agricultural University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรกรรมระดับสูงในฐานการผลิตถั่วเหลืองชั้นนำของประเทศ ณ มณฑลเฮย์หลงเจียงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน กล่าว
เขาเพิ่มเติมว่าการวิจัยของทีมงานมุ่งเน้นไปที่การสร้างความก้าวหน้าให้กับเชื้อพันธุกรรมถั่วเหลือง เพื่อเร่งผลผลิตในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้า เป้าหมายนี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งเลวร้ายลง รวมถึงวิกฤตยูเครนอันยืดเยื้อยาวนาน
เมล็ดพืชถือเป็น “เศษ” ของการเกษตรกรรม ซึ่งแม้จะดูเล็กจ้อยและด้อยค่า ทว่า เชื้อพันธุกรรมหรือทรัพยากรพันธุกรรมอันมีชีวิตนี้เป็นพื้นฐานของการเพาะเมล็ดพันธุ์พืช
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เคยกล่าวไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ว่า ควรยกระดับความมั่นคงด้านเชื้อพันธุกรรมให้อยู่ในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของชาติระดับสูงสุด
แนวทางแบบองค์รวมต่อความมั่นคงของชาติสามารถเข้าใจได้อย่างเด่นชัดผ่านปรัชญาจีนโบราณที่ว่า “สภาวะของโลกใบนี้มีขึ้นมีลง หากไม่รุ่งเรืองก็เสื่อมถอย”
สี จิ้นผิง อ้างถึงวลีดังกล่าวและภูมิปัญญาชั้นเลิศซึ่งมีความเกี่ยวพันกัน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมสำหรับความท้าทาย ความเสี่ยง รวมถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น แล้วพึงยึดหลักการเหล่านี้ไว้ให้มั่น
“กระแสน้ำ บ้างไหลไป บ้างไหลกลับ ประเทศชาติไม่ปริวัฒน์ก็ดับสูญ”
สุภาษิตจีนสมัยของหลิว ซูเชียน (Lyu Zuqian) นักวิชาการขงจื๊อแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ (พ.ศ. 1670-1822) มีหมายความว่า คนในชาติต้องเตรียมพร้อมและระมัดระวังต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ แม้ในช่วงเวลาแห่งความสงบและสันติ เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันอาจมาเยือนแบบไม่ทันตั้งตัว
ผู้นำจีนให้ความสำคัญกับปรัชญาการปกครองนี้มายาวนาน สำหรับประธานาธิบดีสี ความมั่นคงทางอาหารถือเป็นผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่สุดของประเทศ เพราะจีนจำเป็นต้องเลี้ยงดูประชากรเกือบหนึ่งในห้าของโลกด้วยพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่ประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ของโลก
แม้จีนจะเพิ่มการผลิตถั่วเหลืองคุณภาพสูงและลดการนำเข้าลง แต่ภาคส่วนนี้ยังคงเป็นจุดอ่อนในการขับเคลื่อนสู่ความมั่นคงทางอาหาร ในปี 2564 ถั่วเหลืองนำเข้ามีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 85 ของความต้องการทั้งหมดของประเทศ
เฉินเพิ่มเติมว่าเป้าหมายของจีนคือการเพิ่มอัตราการผลิตพืชผลขึ้นอีก 50% ภายในสามถึงห้าปีต่อจากนี้ หลังจากนั้น ผลผลิตถั่วเหลืองจะเพิ่มขึ้น 10 ล้านตันต่อปี หรือประมาณหนึ่งในสิบของปริมาณการนำเข้าของประเทศ เขาทิ้งท้าย
Social Links