- จีนกลายเป็นตลาดส่งออกผ่านแดนของไทยอันดับ 1 ในปี 2566 แซงหน้าทิ้งห่างการส่งออกชายแดนไปมาเลเซีย ด้วยเส้นทางขนส่งที่สะดวกมากขึ้นทำให้สินค้าหลายชนิดหันมาใช้เส้นทางนี้ในการส่งสินค้าไปจีน อาทิ ผลไม้สด ยางพารา คอมพิวเตอร์ ไม้และอิเล็กทรอนิกส์
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2567 ตลาดจีนจะยิ่งมีความสำคัญต่อการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยโดยครองอันดับ 1 ต่อเนื่อง มีมูลค่าส่งออกผ่านแดนใกล้เคียง 2.5 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 17% โดยการขนส่งด้วยรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว จะเข้ามีบทบาทมากขึ้น
…………………………………….
ภาพรวมการส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทย1ในปี 2566 มีมูลค่า 9.8 แสนล้านบาท หดตัว 4.6% (รูปที่ 1) แต่การขนส่งไปบางประเทศยังคงเติบโตสะท้อนความสำคัญของสินค้าไทยที่ยังเป็นที่ต้องการโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าผ่านแดนไปยังจีน สิงคโปร์ และสปป.ลาว ขณะที่การส่งออกไปยังเมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย และเวียดนามล้วนหดตัวจากปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศ
รูปที่ 1 การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยลดลงในปี 2566
ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
เมื่อเทียบกับตลาดส่งออกชายแดนและผ่านแดนทั้งหมดของไทย การส่งออกไปจีนมีความสำคัญมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งในปี 2566 มูลค่าส่งออกทำสถิติสูงสุดครองอันดับ 1 ตลาดส่งออกชายแดนและผ่านแดนไทย มีมูลค่าส่งออก 2.13 แสนล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 35.4% (รูปที่ 2) ทิ้งห่างกาารส่งออกชายแดนไปมาเลเซียที่มีมูลค่า 1.62 แสนล้านบาท (หดตัว 11.74%) โดยตลาดส่งออกรองลงมา ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา สิงคโปร์ และเวียดนาม ตามลำดับ
รูปที่ 2 การค้าผ่านแดนไทยไปจีนมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 ในปี 2566
ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
การส่งออกผ่านแดนทางบกไปจีนมีความสำคัญมากขึ้น (รูปที่ 3) โดยมีสัดส่วน 18.2% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปจีน (ทางถนน 17.3% +รถไฟ 0.85%) จากที่เคยมีสัดส่วนเฉลี่ย 13% ในปี 2561-2565) อย่างไรก็ดี การส่งออกไปจีนส่วนใหญ่อีก 81.8% ยังคงใช้เส้นทางขนส่งทางทะเล
รูปที่ 3 การขนส่งสินค้าไทยผ่านแดนไปจีนสัดส่วนสูงขึ้นเทียบกับการขนส่งทางทะเล
ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
แรงส่งด้านอุปสงค์และอุปทานทำให้การส่งออกผ่านแดนไปจีนขยายตัวอย่างมากและยังมีแนวโน้มการเติบโตในระดับที่สูง ดังนี้
– สินค้าผลไม้สดจากไทยเติบโตต่อเนื่องสะท้อนความต้องการของตลาดจีน โดยเฉพาะการส่งออกทุเรียนสดผ่านแดนไปจีนในปี 2566 มีมูลค่า 9.3 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 81% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (รูปที่ 4) ทั้งนี้การส่งออกผ่านแดนไปจีนส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผลไม้สด 52% (ทุเรียน ลำไย มังคุด ส้มโอ ม่ะมวง กล้วยและสับปะรส) ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ยาง/ยางธรรมชาติ/น้ำยางข้น 18.3% ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) 12% และไม้แปรรูป 9%
รูปที่ 4 ผลไม้สดเป็นสินค้าส่งออกหลักที่ผ่านแดนไทยไปจีน
ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
– การส่งออกผ่านแดนแต่ละเส้นทางส่วนใหญ่ยังเติบโต บ่งชี้โอกาสทำตลาดของสินค้าไทยสามารถตอบโจทย์การบริโภคของตลาดจีนตอนใต้แตกต่างกันไป (รูปที่ 5) อาทิ ผลไม้จะใช้เส้นทาง จ.นครพนม จ.เชียงราย และรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว จ.หนองคายที่ใช้เวลาขนส่งรวดเร็วกว่าเส้นทางอื่น
รูปที่ 5 การค้าผ่านแดนแต่ละจังหวัดของไทยไปจีนส่วนใหญ่เติบโตในปี 2566(ตัวเลขในวงเล็บคือ % การเติบโต)
ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์
– เส้นทางการขนส่งด้วยรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว มีทิศทางเติบโตสูงคาดทั้งปี 2567 มีมูลค่าส่งออก 12,000 ล้านบาท นำโดยผลไม้สดที่จะหันมาใช้ช่องทางนี้มากขึ้น ช่วยลดระยะเวลาขนส่งจากไทยไปยังปลายทางตลาดจีนตอนใต้และตอนกลางให้เหลือเพียง 1-2 วัน เมื่อเทียบกับการขนส่งทางทะเลที่ใช้เวลามากกว่า 1 สัปดาห์ ซึ่งการส่งออกผ่านรถไฟความเร็วสูงในปี 2566 เริ่มมีการใช้งานมากขึ้นจนมีมูลค่าส่งออก 10,006 ล้านบาท (รูปที่ 6) ทั้งยังเป็นเส้นทางใหม่ที่ช่วยส่งออกผลไม้ไทย นับจากวันที่ 3 ธ.ค. 2565 ทางการจีนเปิดด่านศุลกากรรถไฟโม่ฮาน มณฑลหยุนหนานประเทศจีน ที่อนุญาตให้นำเข้าผลไม้ได้อย่างเป็นทางการ
รูปที่ 6 ผลไม้สดเป็นสินค้าส่งออกหลักที่ใช้รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว
ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
– สินค้าที่ต้องทำความเร็วในการขนส่ง และคาดหวังการเจาะตลาดตอนใต้และตอนกลางของจีนมีแนวโน้มหันมาใช้การขนส่งผ่านแดนเพิ่มขึ้น ด้วยความสะดวกรวดเร็วที่สามารถส่งสินค้าตรงไปยังมณฑลหยุนหนาน และเขตปกครองตนเองกว่างซีที่นับเป็นตลาดใหม่ ผ่านเส้นทางการขนส่งที่เชื่อมต่อระหว่างไทย-สปป.ลาว-เวียดนามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาวและถนนหลายแห่ง จึงเอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าเกษตรที่ต้องแข่งกับเวลาหันมาใช้เส้นทางนี้ ทั้งการส่งออกทุเรียนสดสดและมังคุดสดใช้การขนส่งผ่านแดนมีสัดส่วนถึง 68.1% และ 87.9% ตามลำดับ (รูปที่ 7) สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมอย่าง HDDฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟใช้เส้นทางขนส่งผ่านแดนคิดเป็น 84.7% ของการส่งออกไปจีนทั้งหมด (ที่เหลือเป็นการขนส่งทางทะเล)
รูปที่ 7 การส่งออกสินค้าผ่านแดนไทยไปจีน 10 อันดับแรก โดยเฉพาะทุเรียน HDD มังคุด น้ำยางข้น ใช้เส้นทางขนส่งผ่านแดนมากกว่าการขนส่งทางทะเล
(สัดส่วนการส่งออกผ่านแดนของสินค้าแต่ละชนิดไปจีนต่อการส่งออกสินค้าแต่ละชนิดของไทยไปจีน(%))
ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์
ทั้งๆ ที่ จีนไม่มีพรมแดนติดกับไทย แต่ความสะดวกด้านการขนส่งระหว่างประเทศทำให้การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนมีความสำคัญมากขึ้นจนแซนหน้าทิ้งห่างการส่งออกผ่านแดนไปมาเลเซียในปีที่ผ่านมา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2567 ตลาดจีนจะยิ่งมีบทบาทสำคัญต่อการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย โดยยังคงความเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าส่งออกผ่านแดนใกล้เคียง 2.5 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 17% ด้วยศักยภาพสินค้าไทยที่ยังเป็นที่ต้องการโดยเฉพาะการส่งออกผลไม้สดอย่างทุเรียน มังคุดและลำไยจะยังเป็นที่ต้องการของตลาด เป็นผลไม้พรีเมียมราคาสูงบวกกับผลผลิตผลไม้ไทยยังสามารถตอบสนองความต้องการได้ต่อเนื่อง ขณะที่โครงข่ายการขนส่งทางบกไปจีนมีให้เลือกหลายเส้นทางเพื่อไปยังตลาดใหม่ในพื้นที่จีนตอนใต้ มณฑลหยุนหนานและเขตปกครองตนเองกวางซีจ้วง โดยเฉพาะเส้นทางสายใหม่ผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว จะมีส่วนสำคัญช่วยกระจายสินค้าไทยได้อีกทางหนึ่ง
Social Links