ชี้การบ้านรัฐบาลใหม่
เพิ่มผลิตภาพแรงงานให้มากกว่าอัตราเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ
เป็นแนวทางที่ดีที่สุด
……………………………………………..
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเอกชนที่ใช้แรงงานจำนวนมากให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่การจ่ายค่าตอบแทนแรงงานอิงกับค่าแรงขั้นต่ำในสัดส่วนสูง เช่น ภาคเกษตร ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ก่อสร้าง บริการด้านอื่นๆ รวมถึงงานในครัวเรือนส่วนบุคคล ขณะที่ โจทย์ด้านแรงงาน เป็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่จะต่อเนื่องไปแม้หลังมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ดังนั้น การเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้ได้ในอัตราที่มากกว่า/เร็วกว่าอัตราการเพิ่มของค่าแรงขั้นต่ำ เป็นหนทางที่ดีที่สุด ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนควรช่วยกันผลักดันให้เกิดการดำเนินการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
………………………………………….
สถานการณ์ตลาดแรงงานในช่วงเวลานี้และไปข้างหน้ามีความซับซ้อนและเป็นโจทย์เชิงโครงสร้างที่ต้องอาศัยหลายๆ มาตรการและความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการจัดการ โดยไม่เพียงแต่การขาดแคลนแรงงานทั้งแรงงานพื้นฐานและแรงงานฝีมือในธุรกิจต่างๆ จะยิ่งท้าทายมากขึ้นเมื่อไทยเป็นสังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ ผนวกกับทักษะแรงงานที่มีอยู่ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่สอดคล้องไปกับความต้องการแรงงานที่เปลี่ยนไปตามพลวัตทางธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ อีกทั้งค่าตอบแทนและสวัสดิการแรงงานก็คงจะต้องมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับค่าครองชีพและแข่งขันได้ในตลาด ฯลฯ
การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เป็นหนึ่งในมาตรการที่ช่วยลูกจ้างให้มีความสามารถในการใช้จ่ายได้มากขึ้นท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงในปัจจุบัน ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ทำให้นายจ้างมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งตามนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ก็มีแนวทางจะดำเนินมาตรการนี้ ต่างกันเพียงระดับและจังหวะเวลา ดังนั้น เป็นที่คาดว่า รัฐบาลชุดใหม่คงจะเดินหน้าปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากปัจจุบันที่อยู่ที่เฉลี่ยราว 337 บาท/วันทั้งประเทศ (แต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน) สอดรับกับฝั่งแรงงานที่ก็คาดหวังว่าจะได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเอกชนที่ใช้แรงงานจำนวนมาก (Labor-intensive) ให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่การจ่ายค่าตอบแทนแรงงานอิงกับค่าแรงขั้นต่ำในสัดส่วนสูง เช่น ภาคเกษตร ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ก่อสร้าง บริการด้านอื่นๆ รวมถึงงานในครัวเรือนส่วนบุคคล เป็นต้น โดยกรณีที่ค่าแรงขั้นต่ำถูกปรับเพิ่มราว 30% และนายจ้างต้องปรับค่าตอบแทนแรงงานส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้อิงกับค่าแรงขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ปกติ เช่น 5% ด้วย พบว่า ต้นทุนแรงงานของภาคเอกชนเฉลี่ย (ณ ปลายปี 2565 มีจำนวนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วนราว 44% ของลูกจ้างทั้งหมด) จะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 16% ขณะที่ หากแยกตามประเภทธุรกิจ ธุรกิจเกษตร ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ก่อสร้าง บริการด้านอื่นๆ รวมถึงงานในครัวเรือนส่วนบุคคล จะมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นจากเดิม 18-28% เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีสัดส่วนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือนต่อลูกจ้างทั้งหมด สูงกว่าภาคเอกชนเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม ผลสุทธิต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ คงจะขึ้นอยู่กับทั้งฝั่งรายได้และต้นทุนอื่นๆ ว่ามีแนวโน้มเป็นเช่นไร รวมถึงความยืดหยุ่นในการปรับตัวว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น ความสามารถในการสร้างรายได้และการบริหารจัดการต้นทุน การปรับราคาขายสินค้าและบริการ เป็นต้น ซึ่งแต่ละธุรกิจและแต่ละกิจการจะมีสถานะที่แตกต่างกันไปตามหน้าตักของตนเอง
ด้วยโจทย์ของตลาดแรงงานที่จะยังอยู่แม้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่า การเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้ได้ในอัตราที่มากกว่าและเร็วกว่าอัตราการเพิ่มของต้นทุนแรงงาน จะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้ภาคธุรกิจเอกชนสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหากรัฐบาลเป็นผู้ผลักดันให้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ก็ควรที่จะเข้ามาช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานนี้ รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนสำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความเปราะบางให้สามารถข้ามผ่านสถานการณ์ที่ท้าทายนี้ไปด้วยกัน นอกจากนี้ ควรจะพิจารณาการสร้างกลไกหรือแรงจูงใจเพื่อให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงานอย่างต่อเนื่องในช่วงข้างหน้าด้วย
Social Links