ชู“เทศบาลแม่เหียะ” ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ
อปท.ไหนสนใจปลุกท้องถิ่นในทันสมัย
ไปที่งาน Thailand Smart City Expo ได้เลย!
การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ซึ่งนำความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาตอบสนองความต้องการของคน และตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่มีความสะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพัฒนาเมือง ผ่านการออกแบบที่ดีจนกลายเป็น “เมืองอัจฉริยะ” หรือ Smart City เพื่อเป็นเมืองที่น่าอยู่ ทันสมัย เพื่อช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในเมืองได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และยั่งยืน
ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐ พร้อมทั้งองคาพยพต่าง ๆ ได้ร่วมมือกันผลักดันการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันประเทศไทยมีการประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว 36 เมือง ใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายในปี 2566 จะเร่งพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพิ่มขึ้นอีก 15 เมือง โดยคาดว่า จะสามารถดึงดูดการลงทุนได้มากกว่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 61,000 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี
การพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม แท้จริงแล้วไม่ได้มีอะไรซับซ้อน หรือไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด เพราะสิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถผลักดันการพัฒนาเมืองให้ทันสมัย อยู่ที่ความพร้อมของชุมชน ผ่านความร่วมมือร่วมใจ โดยมีกลไกของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปสนับสนุน
สำหรับตัวอย่างของชุมชนหนึ่งที่เราอยากพาทุกท่านไปทำความรู้จักในครั้งนี้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งชุมชนต้นแบบการพัฒนาให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะในสเกลที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่มีความน่าสนใจ และสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาในเมืองอื่น ๆ ได้ นั่นคือ “เทศบาลเมืองแม่เหียะ” อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และวัดพระธาตุดอยคำ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่
นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ ถ่ายทอดเรื่องราวการพัฒนาเมืองของตัวเองว่า เทศบาลเมืองแม่เหียะ ถือเป็นองค์กรส่วนท้องถิ่น ที่มีภารกิจหลักในการดูแลชาวบ้าน และการให้บริการสาธารณะต่าง ๆ ให้เกิดความสะดวกต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยที่ผ่านมาเทศบาลได้ต่อยอดการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาชุมชน เพื่อผลักดันให้เกิด “ท้องถิ่นแนวใหม่” ของประเทศไทย
สำหรับความรู้ที่นำมาพัฒนานั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการได้รับโอกาสร่วมงาน “Thailand Smart City Expo” เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเทศบาลเมืองแม่เหียะ ได้เข้าร่วมการอบรม สัมมนา รวมทั้งได้เห็นนวัตกรรมการพัฒนาเมืองหลายรูปแบบทั้งของภาครัฐ และภาคเอกชน ที่นำมาจัดแสดงภายในงาน ทั้งหมดนั้นสามารถนำมาประยุกต์ ต่อยอดการพัฒนา เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในพื้นที่ของตัวเองได้
“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยที่มีตอนนี้มี 7,000 กว่าแห่ง สามารถเข้าไปดูงานนี้แล้วนำความรู้มาต่อยอด มาประกอบการพัฒนาในพื้นที่ของตัวเองได้ โดยเฉพาะการวางแผนการพัฒนาองค์กรของตัวเอง ทั้งด้านบุคลากร ด้านเครื่องไม้เครื่องมือ หรือ การนำระบบแพลตฟอร์มต่าง ๆ มาปรับใช้ในพื้นที่ โดยเฉพาะการนำมาใช้กับการบริการสาธารณะ เช่น บริการสุขภาพ ความปลอดภัย หรือผังเมือง เพราะเรื่องของ Smart City เป็นเรื่องสำคัญและครอบคลุมไปทั้งมิติของภาครัฐ เอกชน และชุมชนในพื้นที่ด้วย” คุณธนวัฒน์ ระบุ
นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ ยอมรับว่า ที่ผ่านมา เทศบาลเมืองแม่เหียะ ลุยพัฒนาเมืองเพื่อต่อยอดไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะในอนาคตแล้วหลายเรื่อง ตั้งแต่การพัฒนาแพลตฟอร์มแบบง่าย เพื่อพัฒนาระบบคลังข้อมูลประจำพื้นที่ โดยมีการจัดทำฐานข้อมูลเมือง (Maehia One Data) ผ่านการสำรวจฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS Data) ซึ่งนับเป็นต้นแบบของการจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่อันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งเทศบาลเมืองแม่เหียะ พร้อมเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับท้องถิ่นทั่วประเทศรับทราบ เทคนิค และ วิธีการต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การทำชุดข้อมูลพัฒนาเมืองในพื้นที่ของตัวเอง
อย่างไรก็ดีในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ไม่ได้มาง่าย ๆ เพราะต้องใช้เวลา โดยที่ผ่านมาเทศบาลเมืองแม่เหียะ เริ่มต้นการพัฒนา Smart City มาตั้งแต่ปี 2558 เรื่อยมา เริ่มจากการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งถือเป็นเรื่องหลักของการพัฒนาเมืองให้เกิดประสิทธิภาพ โดยต้องแยกประเภทการใช้ที่ดินให้ถูกต้อง และเหมาะสม พร้อมทั้งนำโดรนสำรวจแผนที่และเก็บข้อมูลทั้งหมดอยู่ในระบบฐานข้อมูลโปรแกรมแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน L TAX 3000 ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่
ปัจจุบันเทศบาลเมืองแม่เหียะ มีการจัดทำระบบข้อมูลของพื้นที่เอาไว้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ มีช่องทางหลังคือเว็บไซต์กลาง www.maehia.go.th ภายในเว็บไซต์มีการเชื่อมโยงระบบบริการออนไลน์ หรือ e-Service ทั้ง ระบบ One Stop Service ซึ่งประชาชนสามารถขอรับบริการสาธารณะและแจ้งร้องทุกข์ร้องเรียน สามารถติดตามสถานการณ์ดำเนินการได้ด้วยตนเอง หรือ ฐานข้อมูลตำบลออนไลน์ เพื่อบริการข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ของเทศบาลเมืองแม่เหียะ และ ระบบชำระค่าจัดเก็บขยะออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถชำระค่าจัดเก็บขยะผ่านระบบออนไลน์ รวมทั้งการแจ้งข่าวสารที่จำเป็นสำคัญประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ ด้วย
นายธนวัฒน์ บอกด้วยว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ มีอีกหลายสิ่งอยากอย่างต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน โดยองค์กรส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่ต้องการองค์ความรู้ใหม่ ๆ รวมไปถึงนวัตกรรมทันสมัยก็อยากให้เข้ามาร่วมในงาน “Thailand Smart City Expo 2023” ที่กำลังจะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ โดยจากประสบการณ์การเข้าร่วมงาน Thailand Smart City ในครั้งที่ผ่านมา ภายในงานจะมีทั้ง หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เข้ามาให้องค์ความรู้ หรือต่อยอดเป็นคู่สัญญาการพัฒนาเมืองด้านต่าง ๆ ได้
“เชื่อว่าองค์การส่วนท้องถิ่นหลายแห่งสนใจเข้าร่วมชมในงาน Thailand Smart City Expo 2023 เพราะหลายชุมชนอยากนำความรู้ และนวัตกรรมที่รวบรวมไว้ในงานนี้ นำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเอง เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ภาคใต้ต้องการอีกแบบ ภาคเหนือก็ต้องการอีกแบบ ซึ่งในงานนี้มีตัวอย่างดี ๆ ให้ท้องถิ่นเลือกดูครบแน่นอน เช่นเดียวกับเทคโนโลยีใหม่จากต่างประเทศที่จะมีนำมาโชว์ในงานด้วย รวมถึงการประชุม-สัมมนาและเวิร์คชอประดับนานาชาติ โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนชื่อดังจากทั้งในและต่างประเทศ จึงอยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลองไปดูงานครั้งนี้แล้วจะได้อะไรกลับมาพัฒนาหลายอย่าง เพื่อให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์สูงสุด” คุณธนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
งาน “Thailand Smart City Expo 2023” งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีระดับนานาชาติด้านเมืองอัจฉริยะ มีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2566 ณ ฮอลล์ 3-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำหรับผู้สนใจชมงานสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ www.thailandsmartcityexpo.com หรือติดตามข่าวสารของงานได้ที่ Facebook: ThailandSmartCityEx
Social Links