“ซิตี้แบงก์”อัปเดตเศรษฐกิจไทย หลังจีนเปิดประเทศ
ชี้”ท่องเที่ยว-บริโภค-ลงทุน”คึกคัก ดันจีดีพีไทยโต 4.3%
ธนาคารซิตี้แบงก์ คาดภาพรวมประเทศไทยปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกินเท่าตัว แต่คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับลดลงเล็กน้อยจากที่เคยประมาณการไว้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่อคนและระยะเวลามาเที่ยวของนักท่องเที่ยวเริ่มลดลงสู่ระดับปี 2562 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงสนับสนุนจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และการทยอยปรับลดของอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่ดีจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลแม้มีอุปสรรคจากการชะลอตัวในภาคการส่งออก พร้อมกันนี้ ซิตี้แบงก์ยังคงคาดการณ์เช่นเดิมว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะมีการเติบโตของ GDP อยู่ที่ 4.3% ตลอดจนคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.25% ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566
นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เผยว่า ธนาคารซิตี้แบงก์ได้คาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยอยู่ที่ราว 25.5 ล้านคน โดยคิดเป็นนักท่องเที่ยวจีนราว 3.9 ล้านคน (หรือร้อยละ 35 ของนักท่องเที่ยวจีนปี 2562) อันเป็นผลจากการที่ประเทศจีนเปิดประเทศเร็วกว่าความคาดหมาย ทำให้มีนักเดินทางชาวจีนเดินทางเข้าประเทศเกินกว่าการประมาณการณ์ไว้ในเบื้องต้น 1.7 ล้านคน (หรือร้อยละ 15 ของปี 2562) อย่างไรก็ตามด้านยอดการใช้จ่ายต่อคนของนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงกลับคืนสู่ระดับใกล้เคียงปี 2562 หรือ 1,562 ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังข้อมูลล่าสุดชี้ว่ากำลังการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวได้ลดลงต่ำกว่าในปี 2563 (ที่ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) และ 2564 (ที่ราว 12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องมาระยะยาวหรือเป็นการเดินทางเพื่อเจรจาธุรกิจมากกว่าการมาพักผ่อนระยะสั้น ๆ เหตุนี้ ซิตี้แบงก์จึงได้ปรับการคาดการณ์ดุลบัญชีเงินสะพัดของปี 2565 มาอยู่ที่ -3.3% ของ GDP จากเดิมที่ -1.6% รวมถึงปรับลดดุลบัญชีสะพัดปี 2566 ที่น่าจะกลับมาเกินดุล มาอยู่ที่ 2.4% ของ GDP ในปี 2566 จากเดิมที่ 3.8% (โดยใช้ประมาณการค่าใช้จ่ายต่อหัวที่ 1,590 ดอลลาร์สหรัฐฯ)
นางสาวนลิน กล่าวต่อว่า แม้จะปรับลดการคาดการณ์รายได้รวมจากนักท่องเที่ยวลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาระยะสั้นมากขึ้น แต่การที่มีนักท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อการจ้างงานเพิ่มขึ้นในหลายภาคส่วน และเสริมสร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจได้เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยยังคงคาดว่าในปี 2566 GDP ของประเทศจะเติบโตอยู่ที่ 4.3% อีกทั้งในปี 2566 เงินบาทจะแข็งค่าจากแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยเรื่องการไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์เช่นกัน
ด้านการบริโภคของภาคเอกชนจะมีการเติบโตที่ดี ด้วยแรงสนับสนุนจากภาวะเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลง การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และความมั่นใจที่มากขึ้นของผู้บริโภค โดยมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างโครงการช้อปดีมีคืน หรือแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ จะเป็นแรงช่วยสนับสนุนอีกแรง อนึ่ง การจ้างงานในหลายภาคส่วนกลับมาใกล้เคียงระดับก่อนโควิด นอกจากนี้การลงทุนของภาคเอกชนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรม อาจชะลอลงในช่วงต้นปี 2566 ตามสถานการณ์ของภาคการส่งออก แต่ยังคงได้รับการขับเคลื่อนจากนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากรัฐบาล โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มุ่งเป้าไปยังการดึงดูดบริษัทต่างชาติที่มีแผนย้ายฐานการผลิต พร้อมรักษานักลงทุนเดิมภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ อาทิ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เทคโนโลยีนวัตกรรมและนวัตกรรมสีเขียว ฯลฯ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมธุรกิจ การค้า และโลจิสติกส์ของภูมิภาค
“อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตาคือสภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งซิตี้แบงก์ได้คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มจะผ่อนคลายจาก 6.1% ในปี 2565 มาสู่ที่ระดับ 2.5% ในปี 2566 แม้ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากราคาพลังงานไฟฟ้าที่สูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตต่อเนื่องในปี 2566 ในขณะที่ราคาอาหารยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคงอยู่ที่ระดับสูงกว่า 3.0% อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากเงินเฟ้อไม่ได้มีการกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ทยอยลดลง จึงยังคงประมาณการเดิมว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังสามารถทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีนี้ แต่มีแนวโน้มขึ้นสู่ระดับ 2.25% ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 เพื่อรักษาเงินเฟ้อคาดการณ์ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และปรับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงกลับไปสู่ระดับใกล้ 0%” นางสาวนลิน กล่าวสรุป
Social Links