“ดร.พิสิฐ”ฟันธง!
“ฐานะการคลังกับเงินคงคลัง”เป็นคนละเรื่อง
เสนอปฏิรูประบบงบประมาณ
ภายหลังจากการชี้แจงของ รมว.กระทรวงการคลัง ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ใช้สิทธิ์พาดพิงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ว่า จากการชี้แจงของรัฐมนตรีคลังนั้นเป็นเพียงบางส่วน และไม่ใช่ส่วนที่ตนได้แสดงความเป็นห่วง เพราะการร่วมทุนกับเอกชนเป็นเรื่องที่รัฐทำอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องที่ตนได้แสดงความเป็นห่วงคือ จากที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศในคำแถลงวานนี้ว่า วิธีการแก้ปัญหาเรื่องของงบลงทุนที่น้อยไปนั้น จะอาศัยการกู้เงินโดยการออกกฎหมายตาม พ.ร.บ.หนี้ ซึ่งเรื่องนี้ ดร.พิสิฐกล่าวว่า หลักของการบริหารจัดการงบประมาณที่ดีควรจะต้องระดมทรัพยากรเข้าสู่ส่วนกลาง แล้วค่อยกระจายออกไปให้งานที่เป็นประโยชน์สูงสุดโดยผ่านการพิจารณากลั่นกรองในสภาฯ ซึ่งจะมีการเปิดเผยข้อมูลให้สภาฯ และประชาชนได้ตรวจสอบ แต่ทุกวันนี้ทั้งจาก พ.ร.ก. 5 แสนล้าน ก็ดี พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาทก็ดี เป็นการออกกฎหมายมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาสั้นๆ และขออนุมัติสภา โดยไม่มีข้อมูลปรากฎให้ ส.ส. หรือ วุฒิสภาได้ตรวจสอบ แล้วมีการใช้จ่ายโดยฝ่ายบริหารไปเรื่อยๆ โดยถือว่าวิธีนี้เป็นการทดแทนงบลงทุนฝนงบประมาณที่ต่ำ แต่วิธีนี้ในหลักของการบริหารจัดการงบประมาณถือว่าเป็นการทำที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงอยากให้ระวังในสิ่งนี้และไม่ให้ทำอีก ซึ่งช่วงนี้อาจมีเหตุผลเรื่องโควิด แต่ความจริงแล้ว งบประมาณประจำปีก็ควรที่จะต้องมาจัดการเพื่อทำเรื่องโควิดให้มากกว่านี้ แทนที่จะอาศัยการกู้เงิน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย แต่ได้สร้างผลกระทบที่ตามมา ก็คือเรื่องตัวเลขหนี้ที่ได้เห็นมาแล้ว
ส่วนในประเด็นเรื่องการปฏิรูปนั้น ดร.พิสิฐ กล่าวว่า ไม่เฉพาะแต่เพียงภาษี แต่ต้องคุยกับสำนักงบประมาณด้วยว่า ระบบงบประมาณก็ต้องมีการปฏิรูป ซึ่งตัวชี้วัดต่างๆ ที่กำหนดไว้นั้น เป็นข้อจำกัดที่อาจจะรุงรังเกินไปหรือไม่ ความจริงแล้วการที่มีการตั้งตัวชี้วัดไว้มากมายนี้ เป็นเรื่องปัญหาระหว่างหน่วยงานมากกว่า คือ กระทรวงการคลังต้องการให้สำนักงบประมาณจัดงบเพื่อบุคลากรก็ดี หรือชำระหนี้ก็ดี ให้ครบถ้วน มิฉะนั้นแล้วกระทรวงการคลังก็จะไปใช้เงินคงคลัง ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อการบริหารเงินคงคลังต่อไป
สำหรับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่านายกรัฐมนตรีได้แถลงเกี่ยวกับฐานะการคลังงโดยการชี้แจงตัวเลขเงินคงคลังนั้น ดร.พิสิฐ กล่าวยืนยันในเรื่องนี้ว่า เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากฐานะการคลัง กับเงินคงคลัง เป็นคนละเรื่อง แต่ในคำแถลงของนายกรัฐมนตรีนั้นมีเพียงเฉพาะแต่เรื่องเงินคงคลัง ส่วนฐานะการคลังที่แสดงถึงรายได้-รายจ่าย และการขาดดุลเงินสด รวมถึงผลที่จะมีต่อหนี้นั้น ในคำแถลงของนายกรัฐมนตรีวานนี้ยังมีความไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 มาตรา 10 (1) ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า นายกฯ จะต้องแถลงฐานะการคลัง แต่ในคำแถลงของนายกฯ วานนี้เป็นเพียงการกล่าวถึงตัวเลขหนี้เก่าก่อนเริ่มงบประมาณ 2565 หรือเงินคงคลังซึ่งไม่ใช่ฐานะการคลัง ตามที่กฎหมายกำหนดกระทรวงการคลังสามารถทำรายงานฐานะการคลังได้ แต่กลับไม่นำมาแสดงตามที่กฎหมายกำหนด
Social Links