ดอลลาร์แข็ง บาทอ่อน หุ้นร่วง! จับตา เฟด สงคราม และโควิด

ดอลลาร์แข็ง บาทอ่อน หุ้นร่วง! จับตา เฟด สงคราม และโควิด

ดอลลาร์แข็ง บาทอ่อน หุ้นร่วง!

จับตา เฟด สงคราม และโควิด

                                                                                ……………………….

•           เงินบาททยอยอ่อนค่า ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นหลังรายงานการประชุมเฟด และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด สะท้อนท่าทีการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงิน ทั้งในส่วนของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและการปรับลดงบดุล

•           อย่างไรก็ดีความกังวลต่อสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดและเงินเฟ้อไทยที่พุ่งสูงขึ้นกดดันหุ้นไทยร่วงหลุดแนว 1,700 จุด

                                                                                 …………………………..

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

                เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่า โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต้น-กลางสัปดาห์สอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง หลังรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 15-16 มี.ค. และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด สะท้อนท่าทีการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงิน ทั้งในส่วนของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและการปรับลดงบดุล นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่ง อาทิ ตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ปรับตัวลงมากกว่าที่คาด มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 53 ปี         

                ในวันศุกร์ (8 เม.ย.) เงินบาทปิดตลาดที่ 33.59 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 เม.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 4-8 เม.ย. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยรวม 1,860.51 ล้านบาท และมีสถานะเป็น NET INFLOW ในตลาดพันธบัตร  8,344 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 8,345 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 1 ล้านบาท)

                สำหรับสัปดาห์นี้ (11-15 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.30-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย. (เบื้องต้น) และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนและข้อมูลการส่งออกเดือนมี.ค.ของจีนด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

                หุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน โดยหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆเข้ามา ขณะที่ปริมาณการซื้อขายเบาบางก่อนวันหยุดช่วงกลางสัปดาห์ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยร่วงลงในเวลาต่อมาทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังรายงานการประชุมเฟดล่าสุดบ่งชี้ว่า เฟดอาจจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปรับลดงบดุลในการประชุมรอบถัดไป ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค. ของไทยพุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้แรงขายหลักๆในสัปดาห์นี้มาจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ          

                ในวันศุกร์ (8 เม.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,686.00 จุด ลดลง 0.90% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 75,586.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.56% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.19% มาปิดที่ 657.42 จุด    

                สำหรับสัปดาห์นี้ (11-15 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,675 และ 1,660 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,700 และ 1,710 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต

You may also like

เปิดตัวดัชนีชี้วัดความปลอดภัยของเด็ก บนโลกออนไลน์ทั้งในระดับชาติและระดับโลก

เปิดตัวด